เร่งกระตุ้น 'เอสเอ็มอี' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
"เอสเอ็มอี" แรงขับเคลื่อนประเทศที่ยังคงอ่อนแรง จากความท้าทายรอบด้าน วันนี้ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์เองแล้ว การสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐ-เอกชน ก็เป็นส่วนสำคัญ ล่าสุดรัฐบาลเตรียมอัดเงินแสนล้านบาท เสริมแกร่งให้เหล่าเอสเอ็มอีราวแสนราย
ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนมากที่สุดในประเทศไทย มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีไทยต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กระทบต่อต้นทุนธุรกิจที่สูง ทั้งราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการเงิน และอาจต้องเผชิญต้นทุนแฝงที่เกิดจากความยุ่งยากในการติดต่อกับภาครัฐ การขอสินเชื่อ
เอสเอ็มอีบางรายทำธุรกิจส่งออก ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ปัญหาบาทแข็ง ไม่มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการแข่งขันรุนแรงรอบด้าน จากเอสเอ็มอีด้วยกันเอง การแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ การแข่งขันกับธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะมาตรการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งนายอุตตม เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะใช้มาตรการภายใต้ชื่อ "สนับสนุนเอสเอ็มอีเสริมแกร่ง เพิ่มทุน สร้างไทย" มีวงเงินรวมในการช่วยเหลือมากกว่า 1 แสนล้านบาท และคาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ไม่น้อยกว่า 1 แสนคน
มาตรการนี้แบ่งกลุ่มความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแต่ยังไม่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่มีอุปสรรคมากและกำลังจะกลายเป็นหนี้เสีย และกลุ่มที่สาม เป็นลูกหนี้กลุ่มปกติ ทั้ง 3 กลุ่มจะได้รับการช่วยเหลือเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่อง ผ่านมาตรการ เช่น
ขยายการค้ำประกันสินเชื่อ การปรับโครงสร้างหนี้ การใช้สินเชื่อ โดยรัฐเห็นว่า มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเศรษฐกิจช่วงต้นปีนี้ให้เติบโตต่อไปได้ ซึ่งกระทรวงการคลังอยากเห็นเศรษฐกิจปีนี้เติบโตในระดับ 2.8-3%
เราเห็นว่า การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเอสเอ็มอี นอกจากต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังต้องพึ่งพาวิสัยทัศน์ของเอสเอ็มอีเองด้วย ที่ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากอิทธิพลของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพสินค้าบริการให้มีคุณภาพ มีความต่างจากคู่แข่ง ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำธุรกิจ การจะยกระดับความสามารถทางการแข่งขันและผลักดันให้เอสเอ็มอีเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจไทยได้ ต้องอาศัยการปรับตัวทุกภาคส่วน รัฐ สถาบันการเงิน เอสเอ็มอี ต้องพร้อมใจปรับตัวเดินไปข้างหน้า สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว