ปัญหาที่สังคมโลกและสังคมไทย รอคำตอบ
3 โจทย์ใหญ่ของโลก-ไทยที่ยังรอคำตอบ ทั้งเรื่องปัญหาโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม และวิกฤติของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ในบทความแรกของคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ปีนี้ ผมอยากเริ่มด้วยข้อคิดของนักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบิล ศ.โจเซฟ สติกลิสต์ (Joseph Stiglitz)
ที่ได้ให้ไว้ในข้อเขียนของเขาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่พูดถึงความเหมาะสมของรายได้ประชาชาชาติ หรือ GDP ที่จะเป็นตัววัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของสังคม โดยกล่าวว่า โลกของเราขณะนี้กำลังอ่อนล้าด้วยสามปัญหาสำคัญที่กำลังบั่นทอนความเป็นอยู่ของสังคมโลกและมวลมนุษยชาติ เป็นปัญหาที่ไม่มีคำตอบ
ปัญหาแรก คือปัญหาโลกร้อน สองคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสามคือวิกฤติของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งสามปัญหาสั่นคลอนความสามารถของเศรษฐกิจทั่วโลกที่จะเติบโต สั่นคลอนความหวังที่ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจจะสามารถแบ่งปันใหักับคนในสังคมได้อย่างทั่วถึง และสั่นคลอนความเชื่อที่ว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมจะเป็นกลไกที่สังคมสามารถใช้แก้ไขปัญหาที่สังคมมี
สามปัญหานี้คือโจทย์ที่คนทั่วโลกต้องการคำตอบ เห็นได้จากปีที่แล้วที่เป็นปีของการประท้วงที่ประชาชนจากทุกส่วนของโลกออกมาเรียกร้องในประเด็นเหล่านี้ เป็นโจทย์ที่สังคมไทยเองก็ต้องการคำตอบว่า เราจะเริ่มแก้ไขผลเสียที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจากการเติบโตของเศรษฐกิจและปัญหาโลกร้อนได้หรือยัง เราจะทำอย่างไรกับความเหลื่อมล้ำในประเทศที่มีมาก และเราจะทำการเมืองของประเทศให้ตอบโจทย์ปัญหาที่ประเทศมีได้อย่างไร เพื่อให้การเมืองเป็นความหวังให้กับการแก้ไขปัญหา
ปัญหาโลกร้อน คนในบ้านเราส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนอื่น และไม่ใช่เรื่องด่วน แต่ผลจากภาวะโลกร้อนได้เข้ามากระทบความเป็นอยู่ของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของอากาศ ภาวะน้ำท่วมสลับกับภัยแล้งแบบปีต่อปี และล่าสุดที่เราเจอด้วยตัวเองทุกคนคือ ฝุ่นและปัญหาคุณภาพอากาศที่เราหายใจ ปัญหาเหล่านี้นับวันจะรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อย จนปีที่แล้วพูดได้ว่าเป็นปีศูนย์หรือปีตั้งต้นของภัยจากภาวะโลกร้อนที่โลกจะสัมผัสความรุนแรงของปัญหามากขึ้นจากนี้ไป
ปีที่แล้ว เราเริ่มปีด้วยอากาศร้อนระอุที่ออสเตรเลียเฉลี่ยกว่า 40 องศา และร้อนนานเป็นเดือน เมื่อโลกร้อนและอุณหภูมิสูงขึ้น ภูเขาน้ำแข็งก็ถูกทำลาย ความสมดุลระหว่างกระแสน้ำอุ่นน้ำเย็นในมหาสมุทรถูกกระทบ เราจึงเห็นการเกิดขึ้นของพายุไซโคลนที่รุนแรง ภาวะอากาศที่สุดโต่ง คือร้อนมากและหนาวมาก และไฟไหม้ป่าที่หยุดยาก เพราะอากาศที่ร้อนได้ทำลายความชื้นของพื้นดิน ล่าสุดก็ที่ออสเตรเลียที่ไฟป่ายังไม่ยุติ กระทบความเป็นอยู่ของคนและสัตว์ที่ต้องอาศัยป่าเป็นที่อยู่อาศัย นี่คือความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่เราเห็นเมื่อปีที่แล้วตลอดทั้งปี และจะเห็นมากขึ้นในปีนี้และปีต่อๆ ไป
แต่ความสนใจของนักการเมืองและผู้ทำนโยบาย ที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เป็นภัยโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ เทียบกับความรุนแรงของปัญหานั้นต่างกันลิบลับ พูดได้ว่ารัฐบาลทั่วโลกส่วนใหญ่ยังไม่ยอมขยับที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาที่ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของ 187 ประเทศที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนโดยมีเป้าหมายชัดเจน อ้างภาระที่ไม่เป็นธรรมที่จะมีต่อคนอเมริกัน ความไม่จริงจังนี้ทำให้คนรุ่นหนุ่มสาวทั่วโลกรวมถึงเยาวชนได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาก เพราะจะกระทบอนาคตและความเป็นอยู่ของพวกเขาโดยตรง ในประเทศไทยก็คงเช่นกัน เพราะเป็นกระแสและความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ เป็นปัญหาที่รัฐบาลและผู้ทำนโยบายของเราจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างกับคนรุ่นใหม่ของประเทศ
ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เป็นปัญหาสำคัญของสังคมเรา เพราะความเหลื่อมล้ำในประเทศเรามีมาก อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก และมีมากกว่ามิติของรายได้หรือความมั่งคั่ง คือในสังคมบ้านเราความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเฉพาะรายได้หรือความมั่งคั่ง แต่มีให้เห็นในเรื่องของโอกาส สิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคล และความเท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมาย ความเหลื่อมล้ำของโอกาสที่พูดถึงคือโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี โอกาสของการมีงานที่ดีทำตามความสามารถที่มีอยู่ โอกาสของการเข้าถึงสินเชื่อหรือบริการทางการเงินเพื่อสร้างรายได้และอนาคต
และจากลักษณะของความเหลื่อมล้ำที่มีในสังคมไทยที่มีหลายมิติ การแก้ไขปัญหาที่มุ่งแต่ความเหลื่อมล้ำของรายได้หรือความมั่งคั่งเพียงอย่างเดียวก็จะไม่ประสบความสำเร็จ การแก้ไขปัญหาต้องให้ความสำคญกับมิติความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นด้วย เช่น ระบบการศึกษา การจ้างงานตามความรู้ความสามารถที่ไม่ใช้เส้นสาย การเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธุรกิจกิจขนาดเล็กและการได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกันตามตัวบทกฎหมาย
เท่าที่ผ่านมา คงชัดเจนว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้รับความสนใจน้อยมากจากฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ส่วนหนึ่งเพราะผู้ที่ได้ประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง และอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของผู้ที่ได้ประโยชน์เหล่านี้มีมหาศาล ล่าสุด เห็นได้จากภาษีที่ดิน ที่มีการเลื่อนไม่นำมาปฏิบัติใช้แม้จะเป็นกฎหมายแล้ว เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์ไม่อยากเสียภาษี นอกจากนี้ ระบบการเมืองของประเทศก็สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำให้มีมากขึ้น จากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ประเทศเราก็ติดอันดับโลกเช่นกัน รวมถึงการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของพรรคพวกตนเอง เช่นการจับจองที่ดินอย่างผิดกฎหมายแต่ไม่ถูกลงโทษ เหล่านี้ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศรุนแรงขึ้น จากผลจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ระบบอุปถัมภ์ และการไม่ให้มีการแก้ไขปัญหา
ที่น่ากลัวคือ เมื่อความเหลื่อมล้ำมีในหลายมิติ และทุกมิติเลวร้ายลงเพราะไม่มีการแก้ไข แรงกดดันต่อคนในสังคมที่ถูกกระทบโดยปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะมาก เพราะประดังเข้ามาหลายมิติ ทำให้ความสามารถของคนที่ถูกกระทบที่จะอดทนกับแรงกดดันเหล่านี้อาจลดถอยลงง่าย และอ่อนไหวที่จะปะทุออกมาเป็นความไม่พอใจต่อระบบอย่างกว้างขวาง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะควบคุมยาก นี่คือ สิ่งที่ต้องระวังที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหา
ประเด็นที่สาม คือความล้มเหลวของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงความล้มเหลวในการทำหน้าที่ของนักการเมือง ความล้มเหลวในตัวนักการเมืองและภาวะผู้นำ และความผิดหวังในนโยบายต่างๆ ที่ออกมากที่มุ่งเอาใจประชาชนเพื่อคะแนนเสียงมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี เหล่านี้ทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี ในประเด็นนี้ การเมืองประเทศเราก็ปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ได้ เพราะปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีแรกของการเมืองในระบบเลือกตั้ง ประชาชนทั้งประเทศก็เห็นแล้วว่าการเมืองเป็นอย่างไร การเมืองยังเป็นการเมืองแบบเดิม ที่ถูกครอบงำโดยคนกลุ่มเดิมที่เล่นการเมืองเพื่ออำนาจมากกว่าเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ ทำให้การเมืองของประเทศไม่เดินหน้า และไม่สามารถเป็นความหวังให้กับประชาชนและภาคธุรกิจที่จะนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองและการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น เหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ
ด้วยเหตุนี้ ปัญหาที่ศาตราจารย์ สติกลิสต์ ยกขึ้นมาทั้งสามปัญหาจึงสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง คือทำอย่างไรให้คนในสังคมและภาคธุรกิจสามารถมีบทบาทที่จะลดทอนหรือป้องกันภัยจากปัญหาโลกร้อน ไม่ให้เข้ามากระทบความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำอย่างไรที่เราจะเป็นสังคมที่เกื้อกูลกันและแบ่งประโยชน์ที่ได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ลดความยากจน ที่ไม่ใช่การแจกเงิน แต่ทำให้คนในประเทศมีอนาคต มีความสามารถในการหารายได้สมตามศักยภาพที่มี และทำอย่างไรให้การเมืองของประเทศเป็นการเมืองที่นำไปสู่การสร้างชาติ สร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เพื่อรักษาอำนาจของกลุ่มคน
นี่คือ โจทย์ที่สังคมไทยรอคำตอบ และคำตอบต้องมาจากบทบาทที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จากภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม