รู้จัก 'MQ-9' โดรนสังหารนายพลอิหร่าน
หลังจากรัฐบาลสหรัฐยืนยันว่า ปฏิบัติการปลิดชีพนายพลคนสำคัญของอิหร่านประสบความสำเร็จด้วยโดรนเพียงลำเดียวชื่อ “เอ็มคิว-9 รีปเปอร์” (MQ-9 Reaper) เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้จักเจ้าของฉายา "โดรนที่น่าเกรงขามที่สุดในโลก" กันมากขึ้น
เว็บไซต์วอชิงตัน เอ็กแซมไมเนอร์ (Washington Examiner) ระบุว่า ปฏิบัติการโดรนลอบสังหารนายพลกาเซ็ม โซไลมานี อดีตผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ผู้ทรงอิทธิพลของอิหร่านเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา กำกับดูแลโดยสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) และควบคุมจากระยะไกลโดยเหล่านักบินกองทัพอากาศสหรัฐที่ฐานทัพอากาศครีชในรัฐเนวาดา
ข้อมูลจากกองทัพอากาศสหรัฐ ระบุว่า โดรนเอ็มคิว-9 รีปเปอร์ หรือเรียกอีกชื่อ "พรีเดเตอร์ บี" (Predator B) เป็นอากาศยานควบคุมระยะไกลแบบติดอาวุธครบ เหมาะกับภารกิจหลากหลาย บินในความสูงระดับปานกลาง และมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยหน้าที่หลักของรีปเปอร์คือ สังหารเป้าหมายแบบสายฟ้าแลบ ส่วนหน้าที่รองคือ เก็บข้อมูลข่าวกรอง
โดรนลำนี้ยังมีความสามารถในการโจมตีและสอดแนมเป้าหมายระดับสูง หาตัวจับยาก และมีเวลาจำกัด
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งโจมตีทางอากาศใส่ขบวนรถของนายพลโซไลมานีขณะเดินทางใกล้กับสนามบินนานาชาติแบกแดด การโจมตีครั้งนี้ยังทำให้อาบู มาห์ดี อัล มูฮันดิส รองผู้บัญชาการกองกำลังฮัชด์ของอิรักซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลอิหร่าน เสียชีวิตด้วย
- คลิปแฟ้มภาพ -
- ความเงียบคืออาวุธ
ส่วนฉายา "หนึ่งในโดรนที่น่าเกรงขามที่สุดในโลก" ของเอ็มคิว-9 รีปเปอร์นั้น ไม่ได้มาจากความว่องไวและอาวุธหนักของมันเท่านั้น แต่ยังมาจากการเคลื่อนที่ชนิดแทบไม่มีเสียง กว่าเป้าหมายจะรู้ตัวก็อาจสายไปแล้ว
เนื่องจากโดรนรีปเปอร์ใช้เครื่องยนต์แบบใบพัดตัวเดียว ทำให้ยากต่อการมองเห็นและฟังเสียงเมื่ออยู่ในสมรภูมิ แม้บินอยู่เหนือเป้าหมาย 250-300 เมตรยังแทบไม่ได้ยินเสียง
จอห์น เวนาเบิล นักบินกองทัพอากาศสหรัฐวัยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการอาวุโสของมูลนิธิเฮอริเทจ บอกว่า ความน่ากลัวของรีปเปอร์คือการเคลื่อนไหวอย่างเงียบเชียบจนแทบไม่ได้ยินเสียง ทำให้เหมาะกับภารกิจลอบโจมตีอย่างมาก
“ระยะการบิน ระยะเวลาลอยอยู่กับที่ และความแม่นยำในการโจมตีของเอ็มคิว-9 ทำให้โดรนรุ่นนี้เป็นอุปกรณ์ติดอาวุธในอุดมคติสำหรับภารกิจเก็บข้อมูลข่าวกรอง ตรวจการณ์ และลาดตระเวน (ไอเอสอาร์) เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีภัยคุกคามต่ำ” เวนาเบิลเผยกับวอชิงตัน เอ็กแซมไมเนอร์
อดีตนักบินรายนี้อธิบายว่า สมมติว่าสหรัฐได้ข่าวกรองเกี่ยวกับแผนการเดินทางคร่าว ๆ ของเที่ยวบินที่นายพลโซไลมานีจะโดยสาร และ/หรือกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของมูฮันดิสทั้งในและรอบ ๆ กรุงแบกแดด ความสามารถของรีปเปอร์นอกจากช่วยให้สหรัฐเห็นภาพจากมุมสูงเหนือเป้าหมายเพื่อเฝ้าสังเกตการพบกันของทั้งคู่แล้ว ยังสามารถทำลายภัยคุกคามเหล่านั้นได้ทันที
เดวิด เดพทิวลา นักบินกองทัพอากาศสหรัฐปลดเกษียณ เผยกับวอชิงตัน เอ็กแซมไมเนอร์ว่า เอ็มคิว-9 รีปเปอร์ เป็นระบบอาวุธที่สมบูรณ์แบบสำหรับภารกิจนี้
“การโจมตีครั้งนี้เป็นการตอบสนองที่ไตร่ตรองมาแล้วและเหมาะเจาะ หลังจากที่รัฐบาลของทรัมป์อดกลั้นมานาน 18 เดือนจากการที่อิหร่านละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างแข็งกร้าวอยู่หลายครั้ง”
- ความสามารถคุ้มเกินราคา
โดรนรีปเปอร์รุ่นนี้ ซึ่งผลิตโดยบริษัทเจนเนอรัล อะตอมมิกส์ ประจำการในกองทัพสหรัฐตั้งแต่ปี 2550 โดยปัจจุบันมีราคาลำละประมาณ 16 ล้านดอลลาร์ หรือราว 482 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเซ็นเซอร์ ระบบสื่อสาร และอุปกรณ์สนับสนุน) แต่ถือเป็นทางเลือกที่ถูกมากเมื่อเทียบกับความสามารถด้านข่าวกรองและการโจมตีทางอากาศ อีกทั้งติดตั้งระเบิดและขีปนาวุธหลายประเภท ได้แก่ ขีปนาวุธเฮลล์ไฟร์ AGM-114, ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ GBU-12 Paveway III และระเบิดเพื่อใช้โจมตีร่วม (JDAM) GB-38
เรื่องขนาด รีปเปอร์มีความยาววัดจากปลายปีกทั้ง 2 ข้างอยู่ที่ประมาณ 20 เมตรและมีน้ำหนักราว 2,223 กิโลกรัม (เท่ากับช้างแอฟริกา 1 เชือก) ส่วนระดับความสูงขณะปฏิบัติการอยู่ที่ราว 7,500 เมตร แต่จริง ๆ สามารถบินได้สูงถึง 15,000 เมตร
นอกจากนี้ รีปเปอร์ยังสามารถบินได้ไกลราว 1,931 กิโลเมตร และทำความเร็วสูงสุดถึง 480 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่นักบินเพียงแค่นั่งบังคับจากฐานทัพที่อยู่ไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร
สื่ออังกฤษรายงานว่า โดรนลอบสังหารนายพลโซไลมานีถูกส่งมาจากฐานทัพอากาศอัล-อูเดอิดในกาตาร์
ทว่า ภารกิจในกรุงแบกแดดไม่ใช่งานแรกของโดรนเพชฌฆาตรุ่นนี้ แต่เคยออกปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน อิรัก เยเมน ลิเบีย และอีกหลายประเทศมาแล้ว โดยมีรายงานว่าภารกิจสังหารครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2550 ที่รีปเปอร์ยิงขีปนาวุธเฮลล์ไฟร์ใส่กลุ่มติดอาวุธในอัฟกานิสถาน
จากนั้นในปี 2558 รีปเปอร์ออกปฏิบัติการอีกครั้งในภารกิจสังหาร "ญิฮาดี จอห์น" ชายชาวอังกฤษที่ผันตัวเป็นนักรบกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) และก่อเหตุฆ่าตัดคอตัวประกันไปหลายคน