เปิดแผนติดปีก 'MSMEs' ไทย ก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
"MSMEs" หรือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยมีความสำคัญอย่างไร? และ "แกร็บ" จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพได้หรือไม่? เพื่อให้ปรับตัวเท่าทันยุค 4.0
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน (ASEAN Business and Investment Summit 2019) ที่จัดควบคู่กับการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ซึ่งมีผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งภูมิภาคอาเซียน เข้าร่วมการประชุมเพื่อร่วมหารือถึงโอกาส และเตรียมความพร้อมสู่เศรษฐกิจในยุคดิจิทัล และตัวผมได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ "Empowering MSMEs Towards ASEAN 4.0" ซึ่งสะท้อนโมเดลธุรกิจของแกร็บและสอดคล้องกับพันธกิจทางสังคมของเรา ก็คือ Grab For Good ..แกร็บเพื่อ ชีวิตที่ดีกว่า
ถามว่า MSMEs (Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises) หรือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยมีความสำคัญอย่างไร และแกร็บจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพพวกเขาให้สามารถปรับตัวและรับมือกับอุตสาหกรรมยุค 4.0 ได้อย่างไร?
ประการแรก MSMEs คือกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ในปี 2561 ผู้ประกอบการขนาดกลางถึงขนาดย่อมในประเทศไทยมีมากกว่า 3 ล้านราย คิดเป็น 99% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดของประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน มากกว่า 13 ล้านคน หรือ 85% ของอัตราการจ้างงานรวมทั้งประเทศ จึงถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่เกิดจากกลุ่ม MSMEs มีเพียง 43% ของ GDP ทั้งประเทศเท่านั้น ถือเป็นโอกาสในการขยายตัวของ GDP ในอนาคตหากส่งเสริมผู้ประกอบการเหล่านี้มีศักยภาพมากขึ้น
ประการที่สอง กลุ่ม ASEAN-6 หรือ 6 ประเทศหลักในภูมิภาคอาเซียน ได้พัฒนาแผนแม่บทปรับยุทธศาสตร์ชาติด้านเศรษฐกิจ จากเดิมที่โฟกัสภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้แรงงานเป็นหลักไปสู่ภาคบริการ หรือธุรกิจที่อาศัยความรู้ความสามารถพิเศษมากขึ้น ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะพาประเทศไทยหลุดพ้นการติดหล่ม "กับดัก รายได้ปานกลาง" (middle-income trap) โดยส่งเสริมให้ MSMEs ปรับตัวและเข้าถึงเทคโนโลยี ก้าวทันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด
สุดท้าย มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของภูมิภาคอาเซียนจะเติบโตถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยธุรกิจและบริการใหม่ๆ ที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด อาทิ ธุรกิจออนไลน์ (E-commerce) บริการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ (Mobile Payment) บริการเรียกรถ (Ride-hailing) บริการส่งอาหาร หรือพัสดุผ่านแอพพลิเคชัน ฯลฯ ทั้งนี้ ประเทศกลุ่มอาเซียนต่างให้ความสำคัญกับการปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในเชิงรุก โดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ MSMEs ให้สามารถรับมือและปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้ MSMEs ไม่สามารถสร้างโอกาสธุรกิจโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี? คำตอบก็คือ การเข้าไม่ถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงบริการทางการเงิน ความพร้อมในการปรับตัวสอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงแนวคิดและการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เอื้อต่อการใช้ ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาธุรกิจ ขณะที่ภาคเอกชนและแกร็บเองสามารถมีส่วนช่วยในการผลักดันและลดข้อจำกัดเหล่านั้นลงได้
ผมขอยกตัวอย่าง "คุณยอด" นนทกานต์ ซ้ายกาละคำ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารอิสาน "ส้มตำอมร" ซึ่งในอดีตมีแต่ลูกค้าเข้ามาทานอาหารจากหน้าร้านเท่านั้น แม้ว่าบางวันจะขายดีมาก แต่ร้านมีพื้นที่ให้บริการจำกัดคือ รองรับลูกค้าได้สูงสุดเพียง 60 คนเท่านั้น แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อคุณยอดขยายธุรกิจสู่โลกออนไลน์ ให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชันของแกร็บได้
ร้านส้มตำอมรจึงเป็นที่รู้จักในวงกว้างและสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างมหาศาล ทั้งใช้ประโยชน์จากเครื่องมือต่างๆ บนแอพพลิเคชัน และเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า ที่นำไปสู่การพัฒนาเมนูอาหารและบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างดีๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อชิงส่วนแบ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้าได้อีกด้วย
"เพราะเข้าไม่ถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียม MSMEs จึงไม่สามารถสร้างโอกาสธุรกิจจากเทคโนโลย"
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ถือเป็นเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมอาหาร ก็คือ "แกร็บคิท เช่น" (GrabKitchen) โมเดลธุรกิจแบบคลาวด์ คิทเช่น (Cloud Kitchen) โดยการนำเอาร้านอาหารยอดนิยมมารวมไว้ในสถานที่เดียว คอยทำหน้าที่เป็นครัวกลางในการปรุงอาหารและส่งให้กับลูกค้าที่สั่งผ่าน GrabFood ภายใต้ระบบนี้ร้านอาหารที่เป็นคู่ค้าจะสามารถขยายธุรกิจไปในแหล่งพื้นที่ ที่เข้าถึงลูกค้าจำนวนมากได้สะดวกยิ่งขึ้น ถือเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการบริหารจัดการต้นทุน โดยเฉพาะในเรื่องค่าเช่าสถานที่หนึ่งในอุปสรรคสำคัญ
ปัจจุบัน มีบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี หรือให้บริการแอพพลิเคชันร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่างๆ ส่งเสริม และสนับสนุนกลุ่ม MSMEs ให้สามารถ ปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิต แกร็บเองได้ร่วมส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับทั้งพาร์ทเนอร์คนขับ พาร์ทเนอร์คนส่งอาหาร และพาร์ทเนอร์ร้านค้า ที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุน MSMEs กว่า 9 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้มีอาชีพอิสระโดยสร้างรายได้เสริมจากแพลตฟอร์มของเรา โดย 21% ของคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ไม่เคยมีอาชีพมาก่อน
ในประเทศไทย เวลานี้แกร็บให้บริการครอบคลุม 20 เมืองใน 18 จังหวัด ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา เรามีส่วนช่วยให้คนไทยนับแสนคนมีโอกาสหารายได้เสริมและยกระดับคุณภาพชีวิต ในปี 2563 นี้ แกร็บวางแผนขยายการให้บริการไปยังเมืองรองมากขึ้น และพยายามส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึง บริการทางการเงินกับกลุ่มที่ยังขาดโอกาส ตั้งแต่ปี 2555 แกร็บทำงานร่วมกับพันธมิตร ในกลุ่มสถาบันการเงินหลายแห่งช่วยให้ MSMEs กว่า 1.7 ล้านรายทั่วทั้งภูมิภาค เข้าถึงบริการทางการเงินโดสามารถเปิดบัญชีธนาคารเล่มแรกได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้สามารถขอกู้สินเชื่อแบบออนไลน์ หรือ Digital Lending อีกด้วย
เราได้เปิดบริการ "แกร็บเพย์ วอลเล็ต" (GrabPay Wallet) ให้ผู้ประกอบการร้านค้าสามารถรับการชำระค่าบริการจากผู้ใช้แกร็บ โดยไม่ต้องใช้เงินสด ขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับกลุ่ม MSMEs ให้สามารถรองรับความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค รวมถึงพัฒนาโปรแกรม "แกร็บเวนเจอร์" (GrabVentures) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งถือเป็นฟันเฟือง สำคัญที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ให้พวกเขาสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและขยายธุรกิจได้ตามแผน ผ่านฐานผู้ใช้บริการแกร็บซึ่งมีจำนวนยอดดาวน์โหลดกว่า 163 ล้านครั้ง รวมไปถึง MSMEs มากกว่า 9 ล้านรายทั่วทั้งภูมิภาค