“อีอีซี”เปิดแผนโรดโชว์ปี 63 ดึงลงทุนจากจีน ฮ่องกง เกาหลี
สกพอ.เปิดแผนปี 2563 ลุยโรดโชว์ดึงดูดการลงทุน ตั้งเป้าเจาะรายประเทศ–มณฑล 6 พื้นที่ ดึงลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เร่งตั้ง "อีอีซีไอ-อีอีซีดี" เผยปี 2560-2562 ลงทุนจริงอีอีซี 1.2 ล้านล้านบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเร่งเดินสายออกไปดึงดูดการลงทุนและขยายความร่วมมือใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะลงไปเจาะรายประเทศ และรายมณฑล ซึ่งมีเป้าหมาย 6 พื้นที่ ได้แก่
1. มณฑลกวางตุ้ง จะเน้นในเรื่องอุตสาหกรรมอัจฉริยะ , ดิจิทัล , รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่ายแล้ว และตั้งคณะทำงานระดับสูงไทย-กวางตุ้ง เพื่อผลักดันการลงทุนร่วมกัน โดยจะเข้าไปเจาะรายบริษัทเป้าหมายในเมืองกวางโจว , เซินเจ้น และจูไห่ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หัวเหว่ย เพื่อให้เข้ามาลงทุนเทคโนโลยี 5จี และหัวเหว่ย อะคาเดมี่
ทั้งนี้ ให้เข้ามาตั้งวิทยาลัยในไทย เพื่อสร้างบุคลากรเทคโนโลยีดิจิทัลระดับสูง ซึ่งหากดึงบริษัทแม่เข้ามาลงทุนได้ ก็จะมีบริษัทลูก และซัพพลายเออร์ของหัวเหว่ยตามเข้ามาลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมี บริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน , สถาบันวิจัยจีโนมิกส์ปักกิ่ง (BGI) ให้เข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีการแพทย์จีโนมิกส์ใน อีอีซี และ บริษัทMindray ซึ่งเป็นบริษัทด้านเครื่องมือแพทย์ชั้นนำของจีน ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน อีอีซี
2. ฮ่องกง จะเน้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ , ดิจิทัล , สตาร์ทอัพ และบุคลากรทักษะสูง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการลงนามความร่วมมือกับองค์การพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) และ สมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) และได้มีหลายบริษัทอยู่ระหว่างการขอรับการส่งเสริมการลงทุน โดยมีบริษัทเป้าหมายที่จะเข้าไปเจรจา ได้แก่ King Wai Group และHong Kong Science Technology Parks Corporation
3. มณฑลเจ้อเจียง จะเน้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง และอีคอมเมิร์ช ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานความร่วมมือกับสมาคมธุรกิจเจ้อเจียง โดยจะเจรจาเปิดนิคมอุตสาหกรรมรองรับนักลงทุนจากมณฑลเจ้อเจียง 400 บริษัท กับบริษัทฝู่ทงกรุ๊ป กองทุนเกาผิง และ Funs (Beijing) Group Co., Ltd. และได้ประสานงานกับสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยเพื่อจัดหาพื้นที่รองรับนักลงทุนเหล่านี้
4. มณฑลเหอหนาน จะเน้นในสาขาเมืองการบิน และโลจิสติกส์ทางอากาศ ซึ่ง อีอีซี ได้ลงนามร่วมมือกับรัฐบาลมณฑลเหอหนานและคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ท่าอากาศยานเจิ้งโจว (ZAEZ) เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กับ ZAEZ ด้านมหานครการบิน โดยจะขยายความร่วมมือไปสู่การร่วมลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ทางอากาศ เจิ้งโจว – ลักแซมเบอร์ก-อู่ตะเภา
5. ไต้หวัน จะเน้นในสาขาเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจสีเขียว และการแพทย์และเภสัชกรรมอัจฉริยะ ซึ่ง อีอีซี ได้เข้าไปร่วมมือกับสํานักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจํา ประเทศไทย (TECO) โดยได้เดินทางพบปะกับบริษัทเทคโนโลยีระดับสูงของไต้หวัน และได้จัดตั้งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเฉพาะนักลงทุนไต้หวัน จำนวน 600 ไร่ ที่นิคมฯอมตะ
รวมทั้งมีเป้าหมายเข้าไปเจาะบริษัท TCI ผู้ผลิตอาหารและเกษตรครบวงจร เพื่อผลผลิตมาแปรรูปในกลุ่ม Anti-aging และกลุ่ม Probiotics และบริษัท OBI Pharma ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตยากลุ่มโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ ผลิตยาที่ใช้เทคโนโลยี passive glycan ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งมีศูนย์วิจัยในประเทศสหรัฐ และจีน
บริษัท PharmaEssentia ผลิตยารักษาโรคโลหิตวิทยา โรคติดเชื้อ เนื้องอก มีศูนย์วิจัยหลักที่ญี่ปุ่น และสหรัฐ และบริษัทSolomon technology ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ชิ้นส่วน อิเลคทรอนิคส์ชั้นนำของโลก
6. เกาหลีใต้ จะเน้นในสาขาอุตสาหกรรมดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ อาหาร และอุตสาหกรรมความงาม ซึ่ง อีอีซี ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KOTRA) โดยฝนปีนี้จะร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปพบปะกับบริษัทเทคโนโลยีระดับสูงของเกาหลีใต้ และตั้งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเฉพาะนักลงทุนเกาหลีใต้
รวมทั้งเข้าไปอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ และจะร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ KOTRA จัดสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับนักลงทุนเกาหลีใต้ โดยมีบริษัทเป้าหมาย ได้แก่ บริษัท Amorepacific Cooperation ผู้ผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิดและน้ำหอม และบริษัท LG Household & Healthcare ผู้ผลิตสินค้าอุปโภครายใหญ่ของเกาหลีใต้ รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ
2ปีเม็ดเงินลงทุนทะลุ1.2 ล้านล้าน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2560 – 2562 ได้มีการลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีไปแล้วกว่า 1,221,026 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชน 18,694 ล้านบาท และการลงทุนภาครัฐ 1,202,332 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1.8 แสนตำแหน่ง และมีโรงงานเกิดใหม่ 2,647 โรง
“เป้าหมายการดึงดูดการลงทุนใน อีอีซี จะไม่ได้เน้นจำนวนเงินเป็นหลัก แต่จะเน้นการดึงดูดเทคโนโลยีชั้นสูง การลงทุนพัฒนาศักยภาพแรงงาน ซึ่งมีหลายโครงการที่มีเงินลงทุนไม่สูง เช่นการสร้างสถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา แต่ผลที่ได้จะเกิดประโยชน์ให้กับประเทศสูงมาก และมีความมั่นคงยั่งยืน”
นอกจากนี้ ในปี 2563 จะเร่งดำเนินโครงการเขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) และ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี)
โดย อีอีซีไอ ได้ลงทุนระบบนิเวศนวัตกรรมครบวงจรเพื่อรองรับการลงทุนวิจัย และนวัตกรรม ตลอดจนเตรียมกำลังคนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศด้วยความร่วมมือของรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา บนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ของวังจันทร์วัลเลย์ จ. ระยอง ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างกลุ่มอาคารเมืองนวัตกรรมภาคตะวันออก ระยะที่ 1 เมื่อเดือนก.พ. 2562 คาดว่าจะเปิดให้นักลงทุนเช่าพื้นที่ได้ภายในปี 2564
ส่วน อีอีซีดี ได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การเป็น Digital Innovation Hub ของอาเซียน โดยคาดว่าจะประกาศเชิญชวนพร้อมเอกสารประกอบการคัดเลือก (RFP) ได้ภายในเดือนม.ค.2563