'แบงก์' มองเกณฑ์คุมค่าฟี 'กระทบน้อย'
“สมาคมธนาคาร” เผยมาตรการหนุนปรับโครงสร้างหนี้ เป็นผลดีกับลูกค้าแบงก์ ส่วนเกณฑ์เรื่องค่าธรรมเนียมของธปท. เชื่อกระทบรายได้ค่าฟีไม่มาก เพราะค่าฟีและดอกเบี้ยปรับโครงสร้างหนี้เป็นส่วนน้อยของรายได้ค่าฟี
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะร่วมกันปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยคาดว่าปี 2563 จะเห็นการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนการขยายวงเงินค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) และการช่วยเหลือกลุ่มถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น สมาคมฯ จะมีการคุยกับบสย.เพิ่มเติม
สำหรับการปรับเกณฑ์คิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)นั้น ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเป้าหมายรายได้ค่าธรรมเนียมปี2563 ให้เปลี่ยนแปลงหรือติดลบมากขึ้น จากคาดการณ์ค่าธรรมเนียมติดลบที่ 5-17% เนื่องจากปัจจุบันธนาคารได้คืนเงินให้กับลูกค้าที่ยกเลิกบัตรเดบิตอยู่แล้ว แต่เรื่องดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ยอมรับว่าเป็นส่วนที่มีผลกระทบมากกว่าส่วนอื่น อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยผิดนัดชำระไม่ได้เป็นรายได้หลักของธนาคาร ทำให้ไม่มีนัยสำคัญที่กระทบต่อธนาคาร
นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า มาตรการธปท. ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้ลูกค้า จากค่าธรรมเนียมที่ปรับลดลง แต่ในแง่ของแบงก์ต้องยอมรับว่า รายได้ส่วนนี้ต้องลดลง ดังนั้นแบงก์ก็ต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาลดต้นทุนของแบงก์ให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับโมเดลการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้มีรายได้จากช่องทางอื่นๆเพิ่มขึ้น มาชดเชยส่วนดังกล่าว
นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า เชื่อว่ามาตรการภาครัฐและธปท. มีผลทั้งด้านดีกับทั้งลูกค้า และธนาคาร โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลอยู่แล้ว โดยการให้วงเงินกู้ใหม่ จะทำให้ลูกค้าฟื้นตัวเร็วขึ้น มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
กรณีที่ลูกค้าเป็นเอ็นพีแอล แต่หากชำระติดต่อกัน 3เดือนก็ให้เลื่อนชั้นกลุ่มนี้เป็นลูกหนี้ดี หรือเลื่อนสถานะลูกหนี้ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ามีโอกาสใหม่มากขึ้น ขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าเร็วขึ้น จะยิ่งเป็นการช่วยลูกค้า และลดโอกาสการเกิดเอ็นพีแอลใหม่ๆในระบบ ด้วย ทำให้แบงก์สามารถคุมเอ็นพีแอลในกรอบที่บริหารจัดการได้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้ จากมาตรการที่ออกมา ท้ั้งการปรับโครงสร้างหนี้ และลดค่าธรรมเนียมการผิดนัดชำระหนี้ ลดค่าธรรมเนียมเอทีเอ็มต่างๆ ธนาคารจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการธนาคาร ว่ามีผลกระทบ หรือผลดีกับธนาคารอย่างไรบ้าง เพื่อหาแนวทางรับมือจากมาตรการนี้
“เราเชื่อว่ามาตรการที่ออกมา มีผลดีทั้งกับลูกค้าและกับแบงก์ด้วย ในมุมแบงก์ก็สบายใจมากขึ้นในการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า ในการให้วงเงินหมุนเวียน และกรณีที่ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระ หากกลุ่มนี้จ่ายติดต่อกัน ก็มีโอกาสฟื้นตัวกลับมาและเลื่อนชั้นเป็นสถานะลูกหนี้ดีภายใน 3 เดือน เชื่อว่าจะดีต่อลูกค้าโดยตรง จากเดิมที่ต้องรอระยะดูใจถึง 6 เดือน ในแง่ลูกค้าที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล ที่ร่อแร่ก็ช่วยได้มากขึ้นเพราะเป็นการช่วยกลุ่มนี้ไม่ให้เป็นหนี้ตกชั้นได้”