'พาณิชย์' กำหนดเพดานยา ป้องกัน รพ.เอกชนโขกกำไรหมื่นเปอร์เซ็นต์
"พาณิชย์" กำหนดเพดานยา ป้องกันโรงพยาบาลเอกชนโขกกำไรหมื่นเปอร์เซ็นต์ เผยรายการยาช่วงราคา 10-50 บาท มีมากถึง 45,000 รายการ
นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯร่วมกับ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา กระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านยา ได้กำหนดเพดานราคายาจำนวน 12 กลุ่มราคา เพื่อกำหนดห้ามโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้จำหน่ายยาแต่ละกลุ่มเกินเพดานที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ราคาต้นทางที่ระดับ 0-0.20 บาทต่อเม็ด
กลุ่มที่ 2 ราคา 0.20 – 0.50 บาท
กลุ่มที่ 3 ราคา 0.50-1 บาท
กลุ่มที่ 4 ราคา 1-5 บาท
กลุ่มที่ 5 ราคา 5- 10 บาท
กลุ่มที่ 6 ราคา 10-50 บาท
กลุ่มที่ 7 ราคา 50-100 บาท
กลุ่มที่ 8 ราคา 100-500 บาท
กลุ่มที่ 9 ราคา 500-1,000 บาท
กลุ่มที่ 10 ราคา 1,000-5,000บาท
กลุ่มที่ 11 ราคา 5,000 -10,000 บาท และ
กลุ่มที่ 12 ราคา 10,000 บาท ขึ้นไป
ทั้งนี้ การศึกษาการกำหนดเพดานราคายาแต่ละกลุ่มห้ามเกินกี่เปอร์จากต้นทุนเพื่อป้องกันไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนมีการจำหน่ายยาที่แพงเกินไปหลังจากที่ผ่านมาพบว่ามีการคิดกำไรยาบางรายการมากในระดับ 1,000-10,000%
รวมทั้งปัจจุบันมียาประมาณแสนรายการที่โรงพยาบาลเอกชนได้ส่งมาให้กรมการค้าภายในเพื่อประกาศขึ้นเว็บไซต์ซึ่งจากการกำหนด 12 กลุ่มราคา พบว่า ยาที่มีราคา 10-50 บาท มีมากถึง 45,000 รายการรองลงมาก็จะเป็นราคา 1-5 บาทมีกว่า 26,000 รายการ
โดยหลังจากที่ได้แบ่งยาทั้งหมดออกเป็น12 กลุ่มแล้วจากนั้นก็มีการศึกษาและคำนวณราคาขาย กำไร ต้นทุน มาหาค่าเฉลี่ยในแต่ละกลุ่มก่อนที่จะกำหนดเพดานของเปอร์เซ็นต์ว่าแต่ละกลุ่มราคาต้องไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามการพิจารณาดังกล่าวจำเป็นต้องขอความรู้จากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมากและหลายๆองค์กรก็พร้อมช่วยเหลือกรมฯในการดำเนินการรวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในกลุ่มสีเขียวหลายๆ แห่งก็มาให้คำปรึกษาในการคำนวณต้นทุนและกำไร
นอกจากนี้ การประกาศเพดานราคายาในโรงพยาบาลเอกชนถือว่า มาตรการที่สำคัญจึงเป็นต้องมีการศึกษารายละเอียดอย่างรอบรอบและศึกษาผลกระทบทุกมิติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกๆ ฝ่าย โดยสาเหตุที่ไม่ได้กำหนดเพดานเปอร์เซ็นต์เดียวกันทั้งหมด เพราะจะมีผลกระทบต่อผู้จำหน่ายและผู้บริโภคอย่างมาก เช่น ยาที่รับซื้อมาในราคาแค่ 20 สต. หากกำหนดห้ามเกิน 100% เท่ากับไม่เกิน 40 สต. แต่หากตัวยาราคา 100,000 บาทหากกำหนดไม่เกิน 100% เท่ากับ 200,000 บาท ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ซื้อที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นต้นทุนยาที่มีราคาต่ำก็อาจปล่อยให้มีการกำหนดเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าตัวยาที่มีราคาแพง
สาเหตุที่ไม่ได้กำหนดเพดานเปอร์เซ็นต์เดียวกันทั้งหมด
เพราะจะมีผลกระทบต่อผู้จำหน่ายและผู้บริโภคอย่างมาก
เช่น ยาที่รับซื้อมาในราคาแค่ 20 สต. หากกำหนดห้ามเกิน 100% เท่ากับไม่เกิน 40 สต.
แต่หากตัวยาราคา 100,000 บาทหากกำหนดไม่เกิน 100% เท่ากับ 200,000 บาท
รวมทั้ง กรมการค้าภายใน มีแนวคิดที่จะมีการประกาศขึ้นเว็ปไซต์ของกรมฯในการเปรียบต้นทุนของยาที่ซื้อโรงพยาบาลเอกชนแต่ละรายการว่ายาที่ผู้บริโภคซื้อนั้นมีต้นทุนจริงๆเท่าไหร่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นข้อมูลที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากและที่สำคัญหากประชาชนรู้ก็อาจทำให้ราคาปรับลดลงในอัตราที่เหมาะสมด้วย
ส่วนความคืบหน้าในการนำราคาค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชนจากรายการยาตามรหัสบัญชีข้อมูลและรหัสยามาตรฐานไทย(ทีเอ็มที) ในส่วนค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมด 5,000 รายการ ขึ้นเว็บไซต์กรมการค้าภายใน (www.dit.go.th) เพื่อเปรียบราคาค่าบริการแต่ละโรงพยาบาล 351 แห่ง เช่น ค่าเอ็กซเรย์,ค่าตรวจเลือด,ค่าห้อง,ค่าอาหารเป็นต้นมาจัดทำเป็นคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและเปรียบเทียบราคายาล่าสุดกรมฯอาจนำร่อง300 รายการก่อนจากเดิมที่คาดว่าจะนำร่อง 200รายการเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าจะสามารถพิจารณาได้ทันและคาดว่าจะประกาศขึ้นเว็บไซต์ได้ในต้นปี 2563