'กองทุนหมู่บ้าน' ดันลงทุน-พักหนี้เสริมแกร่ง 'เศรษฐกิจชุมชน'

'กองทุนหมู่บ้าน' ดันลงทุน-พักหนี้เสริมแกร่ง 'เศรษฐกิจชุมชน'

“กองทุนหมู่บ้าน” ถือว่าเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถส่งเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้เร็วกว่ากลไกอื่น รวมถึงสามารถกระตุ้นหรือสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจในระดับฐานราก เนื่องจากสามารถส่งเม็ดเงินลงไปถึงชุมชน

ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านมีสมาชิกกองทุนฯกว่า 13 ล้านคน ใน 7.9 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ รัฐบาลปัจจุบันจึงมีมาตรการทางเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมู่บ้านโดยมี 2 มาตรการหลักที่จะเร่งรัดในช่วงเดือน ม.ค.นี้คือ1.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนหมู่บ้าน 7.1 หมื่นแห่งทั่วประเทศหมู่บ้านละ 2 แสนบาท วงเงินรวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท และ2.โครงการพักชำระหนี้ให้กับสมาชิกกองทุนตามความสมัครใจ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ม.ค.เห็นชอบโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งที่อนุมัติให้หมู่บ้านละ 2 แสนบาทในส่วนโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากแต่ละกองทุนสามารถนำเสนอโครงการที่เป็นความต้องการของหมู่บ้านและการจัดเตรียมหรือเขียนโครงการให้เป็นไปแนวทางเดิมที่เคยปฏิบัติมาเพื่อให้ สทบ.กลั่นกรองและเสนอให้อนุกรรมการโครงการอนุมัติและโอนเงินไปให้แต่ละโครงการใช้ดำเนินงานตามแผนตั้งแต่เดือนก.พ.2563เป็นต้นไปโดยกองทุนที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เป็นโครงการเกรดเอบีและซี ซึ่งในช่วงปลายเดือน ม.ค.จะมีการจัดงานคิกออฟเพื่อเริ่มการดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการซึ่งเป็นโครงการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล

157853923250

โครงการนี้จะให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านทำประชาคมและตัดสินใจกันเองว่าจะใช้เงินเพื่อลงทุนในโครงการอะไรอาจเป็นโครงการต่อเนื่องโครงการเดิมที่ทำไปแล้วหรือเป็นโครงการใหม่โดยรัฐบาลไม่เข้าไปบังคับว่าจะต้องทำอะไรทุกอย่างจะมาจากภูมิปัญญาของชุมชนเป็นกลไกที่จะทำให้กองทุนหมู่บ้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งสภาพคล่องลงไปสู่ฐานราก

“โครงการต่างๆที่ดำเนินการโดยกองทุนหมู่บ้านถือว่าช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งเป็นการปรับแนวคิดการพัฒนาประเทศว่าการพัฒนาจะต้องพัฒนาตั้งแต่ระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็ง” 

สำหรับโครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาทนี้สามารถนำไปทำได้ทั้งโครงการใหม่และโครงการที่ต่อเนื่องจากโครงการเดิม เพราะที่ผ่านมามีการทำโครงการที่ประสบผลสำเร็จสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชนมากไม่ว่าจะเป็นร้านค้าชุมชน โรงงานแปรรูปผลผลิตชุมชน น้ำดื่มชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างรายได้และสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชนได้ด้วย

นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่าที่ผ่านมาการสนับสนุนวงเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศไปลงทุนในโครงการขนาดเล็กในชุมชนมีโครงการที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของชุมชนแล้วกว่า 2 แสนโครงการ มีเงินลงทุนรวม 4 หมื่นล้านบาท สามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้กว่า 8,000 ล้านบาท และสร้างการจ้างงานในชุมชนทั่วประเทศกว่า 1.6 ล้านคนซึ่งโครงการเหล่านี้ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นจึงเป็นโครงการที่ดีที่ควรมีการส่งเสริมต่อเนื่องและสมาชิกกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศก็มีความพร้อมและตื่นตัวมากกับการทำโครงการต่อเนื่องจากเม็ดเงินที่รัฐบาลจะสนับสนุนอีกหมู่บ้านละ 2 แสนบาท

ส่วนมาตรการช่วยเหลือสมาชิกกองทุนหมู่บ้านที่ต้องการพักหนี้ที่สมาชิกกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้าน ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.2562 ที่ผ่านมาและ สทบ.มีการออกระเบียบการพักหนี้กองทุนหมู่บ้านตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2562 คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านที่เข้าสู่การพักหนี้ในส่วนของกองทุนหมู่บ้านประมาณ1.5 ล้านคนวงเงินพักชำระหนี้ทั้งสิ้นประมาณ7.5 หมื่นล้านบาทหรือประมาณ 50% ของวงเงินหมุนเวียนที่กองทุนหมู่บ้านปล่อยกู้ให้กับสมาชิิกอยู่ประมาณ1.5 แสนล้านบาทซึ่งการพักชำระหนี้เงินต้นให้กับสมาชิกมีระยะเวลา 1 ปี โดยสมาชิกที่เข้าโครงการพักชำระหนี้เงินกู้กับกองทุนหมู่บ้านยังคงต้องชำระดอกเบี้ยตามปกติ

“การพักชำระหนี้เป็นการเข้าโครงการตามความสมัครใจของแต่ละกองทุนสามารถเริ่มทำประชาคมและตกลงกันได้ทันทีว่าจะเลือกพักการชำระหนี้ให้กับสมาชิกหรือไม่ซึ่งกรณีนี้จะพักเฉพาะเงินต้นส่วนดอกเบี้ยยังต้องชำระตามปกติเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในกองทุนเพื่อนำไปจัดสวัสดิการในชุมชน”

ที่ผ่านมากองทุนส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาการชำระหนี้แต่โครงการนี้มีขึ้นมาเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับสมาชิกกองทุนเท่านั้นและไม่น่าจะสร้างปัญหาให้กองทุนขาดสภาพคล่องเพราะขณะนี้กองทุนหมู่บ้านเองก็ได้รับการพักชำระหนี้จากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ไม่ต้องชำระคืนเงินต้นจนถึงสิ้นเดือนก.ย. -ธ.ค. 2563