ชวนเด็กร่วมเป็นอาสาตำรวจนักเรียน
สสส. ชวนเด็กและเยาวชน ร่วมเป็นอาสาตำรวจนักเรียน หวังช่วยป้องปรามและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
วันนี้ (9 ม.ค.2563)สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับตำรวจภูธรภาค 4 และคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดนำร่องภาคอีสานตอนบน (สอจร.) ลงพื้นที่ติดตามผลและเยี่ยมชมการดำเนินงานอาสาจราจรเยาวชนร่วมป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ของโรงเรียนโนนสะอาดพิทยาสรรค์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 24 โรงเรียน จาก 6 จังหวัดในภาคอีสาน ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการขยายผลลดอุบัติเหตุจราจรแบบมีส่วนร่วม
ส่งเสริมและพัฒนาเด็กเยาวชนที่เป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้เป็นตำรวจนักเรียน เพื่อช่วยป้องปรามและเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตลอดจนปลูกฝังให้เด็กเยาวชนมีระเบียบวินัยในการสัญจรบนท้องถนนและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยมีเป้าหมายหลัก คือ รณรงค์การขับขี่ปลอดภัยอุบัติเหตุบนท้องถนนต้องเป็นศูนย์
พล.ต.ต.อานนท์ นามประเสริฐ หัวหน้าโครงการขยายผลลดอุบัติเหตุจราจรแบบมีส่วนร่วม กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จะพบว่าในพื้นที่ภาคอีสานถนนสายรองเป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวนมาก ซึ่งเด็กและเยาวชนก็เป็นอีกกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะไม่มีความรู้เรื่องกฎจราจรและไม่มีระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนน สอจร. ภาคอีสานตอนบนมีความคิดที่อยากจะฝึกให้โรงเรียนดูแลโรงเรียน โดยเริ่มที่เยาวชนจึงตั้งตำรวจนักเรียนขึ้นมา ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นโครงการขยายผลการลดอุบัติเหตุแบบมีส่วนร่วม นำร่องใน 6 จังหวัด 24 อำเภอ
"ตำรวจนักเรียน เป็นกิจกรรมที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนที่สนใจอยากเป็นอาสาจราจร และเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 มาเข้าอบรมระเบียบการใช้รถใช้ถนน และกฎจราจร เพื่อให้มาช่วยดูแลรุ่นน้อง โดยมีเครื่องแบบที่เราคิดค้นขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของตำรวจเอามาบังคับใช้กฎหมายในเชิงบูรณาการในโรงเรียน ส่วนโรงเรียนโนนสะอาดมีพื้นที่อยู่ติดถนน ดังนั้นตำรวจนักเรียนที่นี้นอกจากจะช่วยดูแลนักเรียนด้วยกันแล้ว เขายังเตือนผู้ใหญ่ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก ผู้ใหญ่ที่ขับขี่รถประมาทหวาดเสียวผ่านบริเวณหน้าโรงเรียนอีกด้วย" พล.ต.ต.อานนท์ กล่าว
หลังจากทดลองทำมา 10 เดือน ผลที่ได้ถือว่าเกินร้อยละ 50 เพราะ 1.เรามีเครือข่ายตำรวจนักเรียนเกิดขึ้นแล้วในแต่ละโรงเรียน มาเป็นกำลังเสริมแทนที่จะมีแค่ครูปกครองฝ่ายเดียว 2.เรามีการบังคับใช้กฎหมายทั้งในโรงเรียนและนอกถนน 3.พฤติกรรมของนักเรียนที่ฝึกอบรมดีขึ้น รวมถึงเค้าได้ขยายผลไปหาเครือข่ายรด. นักเรียนทุกคนมีวินัยขึ้น เหลือเพียงการขยายผลลงพื้นที่ชุมชน ถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จแบบสมบูรณ์
น.ส.วชฎาภรณ์ มาตรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า สนใจเข้าร่วมเป็นตำรวจนักเรียน เพราะชอบทำกิจกรรมอาสาสมัคร และเคยพบเหตุการณ์เด็กนักเรียนประสบอุบัติเหตุทางถนนขณะตนเองเดินทางมาทำกิจกรรมที่โรงเรียน จึงอยากจะช่วยรณรงค์เรื่องกฎจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนนเพื่อลดอุบัติเหตุ
"ตอนนั้นหนูเรียนอยู่ชั้น ม.5 กำลังเดินทางมาทำงานที่โรงเรียน เห็นน้องนักเรียนชั้น ป.5 ประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำตรงหน้าบ้าน เราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก พอมีกิจกรรมตำรวจนักเรียนเลยอยากจะเข้าร่วม การอบรมทำให้หนูเป็นเด็กที่มีวินัยในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น รู้จักที่จะสวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง จากเมื่อก่อนที่คิดว่าแค่นั่งซ้อนท้ายไม่ต้องสวมก็ได้ ก็คิดเหมือนคนทั่วไปว่าไม่อันตราย พอเป็นตำรวจนักเรียนเราก็เคร่งครัดในกฎหมายมากขึ้น" น.ส.ชฎาภรณ์ กล่าว
ฝากถึงเพื่อนๆ และผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนให้ปฏิบัติตามกฎจราจร ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง เพราะหากประสบอุบัติเหตุไปแม้จะไม่ได้รับผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิต แต่การได้รับบาดเจ็บพ่อแม่ที่รอเราอยู่ก็จะเสียใจไม่ต่างกันค่ะ
น.ส.ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีแนวทางการดำเนินงานด้านการจัดการความปลอดภัยทางถนน มีเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สสส. เน้นการทำงานที่จะมุ่งสร้างวินัยจราจร มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในหลายประเทศที่ลดอุบัติเหตุได้สำเร็จเป็นเพราะมาตรการบังคับใช้กฎหมายได้ผล แต่ว่าในบ้านเราก็มีข้อจำกัดเรื่องการบังคับใช้ข้อกฎหมายหลายอย่าง เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ สสส. จึงเข้ามาสนับสนุนโครงการร่วมกับตำรวจภูธรภาค4 โดยวางมาตรการให้ตำรวจบังคับใช้กฎหมาย ส่วนชุมชน บริษัทห้างร้าน สถานประกอบการ หรือโรงเรียนก็เข้ามามีส่วนร่วมดูแลคนของตนเอง
“กลุ่มเป้าหมายหลักของ สสส. ในโครงการนี้เป็นเด็กและเยาวชน กิจกรรมที่เกิดขึ้นเราจึงมุ่งไปที่สถานศึกษา เพื่อที่จะอบรมเด็กเยาวชนให้ดูแลเด็กด้วยกันเอง ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ตามต่างจังหวัดจะใช้รถจักรยานยนต์ ทำให้หลายๆโรงเรียนที่ทำโครงการจะเน้นมาตรการเรื่องการสวมหมวกกันน็อก มีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ดูแลให้นักเรียนใช้หมวกกันน็อกสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัย"” น.ส.ก่องกาญจน์ กล่าว
กิจกรรมตำรวจนักเรียนจะเน้นเรื่องของการสร้างจิตสำนึกและการป้องปรามเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุมากกว่า ส่วนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุเป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่ชุมชน ท้องถิ่น หรือว่าสังคม สามารถเข้ามาเสริมเป็นหูเป็นตาให้กับตำรวจได้ ดังนั้นถ้ากิจกรรมนี้สำเร็จผลที่ตามมาจะได้หลายส่วน ทั้งการมีส่วนรวมของคุณครูกับโรงเรียน ตำรวจก็ได้มีส่วนร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น ได้ใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น การรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ก็จะประสบความสำเร็จและเกิดความยั่งยืนได้ในระยะยาว