ส.นักข่าว-อ.นิเทศ เตือน 'สื่อโซเชียล' ละเมิด แชร์คลิปภาพเหยื่อ-เด็กถูกโจรยิง
ประสานเสียงเตือน! สมาคมนักข่าวฯ-อาจารย์นิเทศ ทวงติง "สื่อโซเชียล" ละเมิดสิทธิ แชร์คลิปภาพเหยื่อ-เด็กถูกโจรยิง กรณีปล้นร้านทอง ลพบุรี
จากกรณีที่มีคนร้ายปล้นร้านทองในห้างสรรพสินค้า จังหวัดลพบุรี และได้กราดยิงประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กรวมอยู่ด้วย
ปรากฏว่ามีการส่งต่อ แชร์และเผยแพร่คลิปจากกล้องวงจรปิดวินาทีที่คนร้ายปล้นและกราดยิงผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง สร้างความสะเทือนใจให้สังคมและญาติของผู้ชีวิตและบาดเจ็บ
ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ย้ำ 5 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าวและวิทยุโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เคยออก “แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว” เมื่อปีมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ระบุว่า
หมวด ๑ ผู้ปฏิบัติงานข่าว ข้อ ๒ ระบุถึงการทำข่าวอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับฆาตกรรม ภัยพิบัติ วินาศกรรม การก่อการร้ายหรือเหตุรุนแรง
(๑) ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพผู้บาดเจ็บที่มีลักษณะอุจาดและสร้างความรู้สึกสยดสยอง
(๒) ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงงดเว้นการถ่ายภาพผู้เสียชีวิต หากมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ พึงระมัดระวังภาพผู้เสียชีวิตที่มีลักษณะอุจาด สยดสยอง หรือซ้ำเติมความทุกข์โศกของญาติผู้เสียชีวิต
.
หมวด ๒ องค์กรสื่อมวลชน ข้อ ๘ สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการเสนอภาพข่าวผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ วินาศกรรม และสถานการณ์รุนแรงอื่น ๆ ที่มีลักษณะอุจาดสยดสยองหรือน่าเวทนา
ข้อ ๙ สื่อมวลชนต้องไม่นำเสนอภาพข่าวศพของผู้เสียชีวิต ในกรณีที่จำเป็นต้องให้ความร่วมมือแก่ทางราชการเพื่อประโยชน์สาธารณะ สามารถนำเสนอได้โดยต้องหลีกเลี่ยงภาพในลักษณะที่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์โศกต่อญาติของผู้เสียชีวิต
และ ข้อ ๑๑ สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพข่าวของผู้เคราะห์ร้ายหรือญาติซ้ำ ๆ ที่เป็นการตอกย้ำความรุนแรง และความทุกข์โศกของผู้เคราะห์ร้ายและญาติ
ด้าน ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์จากนิด้า โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า อยากให้เราทุกคน ทั้งสื่อ เพจต่างๆ และผู้ใช้ทั่วไปอย่างเราทุกคน ที่เคยส่งต่อความรุนแรงในโลกออนไลน์ แชร์ภาพหรือคลิปที่โหดร้าย สยดสยอง ลองพิจารณาคำถามง่ายๆดูว่า เราทำไปเพื่ออะไร? เพื่อให้เพื่อนของเรา เพื่อให้สังคมเกิดความสลดหดหู่? จิตตก? หวาดกลัว?
หากเป็นการเตือนภัย ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเป็นต้องใช้ภาพหรือคลิปที่โหดร้าย นอกจากนั้น การแชร์ภาพของเหยื่ออาชญากรรม ภาพศพ ยังเป็นการซ้ำเติมความโศกเศร้าของครอบครัว และไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิตอีกด้วย
หากเป็นตัวท่านเอง จะอยากให้คนอื่นแชร์ภาพศพของท่าน ศพของลูกหรือพ่อแม่ของท่าน ไปทั่วโลกออนไลน์เช่นนี้หรือไม่? แล้วท่านลองคิดดูว่า การเสพความรุนแรงในโลกออนไลน์ ทำให้เรากลายเป็นคนเช่นใด? ผู้ที่ส่งความรุนแรงโหดร้ายให้ผู้อื่น อยากให้คนอื่นได้ร่วมรับรู้ในความโหดร้ายนั้นเป็นคนเช่นใด? เพราะฉะนั้น เราจะส่งต่อความรุนแรงโหดร้ายกันไป ... เพื่ออะไร? #ไม่ส่งต่อความรุนแรง
นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กรรมการควบคุมจรรยาบรรณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า จ่อยิงพนักงานร้านทอง - เด็กถูกยิงล้มลง - แม่ร่ำไห้กอดศพลูกน้อย / คือภาพที่สื่อไม่ควรเสนออย่างยิ่ง