วัดกระแสโลกยุคใหม่ ลดชั่วโมงทำงานเพิ่มสุข

วัดกระแสโลกยุคใหม่ ลดชั่วโมงทำงานเพิ่มสุข

เป็นข่าวให้ชาวเน็ตทั่วโลกฮือฮากันเมื่อวันก่อนว่า นายกรัฐมนตรีซานนา มารินของฟินแลนด์ ประกาศนโยบายทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 6 ชั่วโมง แต่ชื่นชมกันได้ไม่เท่าไหร่ รัฐบาลฟินแลนด์ได้ออกมาชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ แอคเคาท์ @FinGovernment ว่า “ไม่ใช่เรื่องจริง”

นั่นเป็นแค่การนำเสนอไอเดียของนายกฯ มาริน ในการประชุมพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งฟินแลนด์ (เอสดีพี) ในเดือน ส.ค. 2562 ไม่กี่เดือนก่อนเธอเป็นนายกฯ ในเดือน ธ.ค. เพื่อหาทางเพิ่มคะแนนนิยมของพรรคในหมู่คนรุ่นใหม่

กว่าจะได้ชี้แจงคนทั่วโลกก็เชื่อไปเรียบร้อยแล้ว เพราะนั่นคือ “ฟินแลนด์” ประเทศที่ใช้ชั่วโมงการทำงานยืดหยุ่นมาหลายสิบปี สอดคล้องกับวัฒนธรรมการไว้วางใจ เสมอภาค และปฏิบัตินิยมที่ฝังรากลึกในประเทศ เว็บไซต์บีบีซีเวิร์คไลฟ์ ยกตัวอย่างชีวิตการทำงานที่น่าสนใจของ “มิกา ฮาร์โคเนน” สะท้อนวิถีการทำงานแบบยืดหยุ่นของชาวฟินแลนด์ได้ดี 

ฮาร์โคเนน ผู้จัดการอาวุโสบริษัทไอทีแห่งหนึ่งในกรุงเฮลซิงกิ ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาทำงานทางไกลจากประเทศสเปนเป็นเวลา 6 เดือน เนื่องจากภรรยาเพิ่งคลอดบุตรและยังอยู่ในช่วงลาคลอด จึงขอทำงานจากอพาร์ตเมนต์ในเมืองมาลากาเพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

ผู้บังคับบัญชาฟังไอเดียก็สนใจ ขอให้ฮาร์โคเนนแจงมาว่าต้องทำภารกิจหลักอะไรบ้างแล้วต้องทำงานเหล่านั้นให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างไร

การทำงานของฮาร์โคเนน เขายังคงติดต่อเพื่อนร่วมงานผ่านทางออนไลน์ ใช้การประชุมทางไกล เดินทางกลับฟินแลนด์บ้างเป็นบางครั้ง และสิ่งที่เขาเชื่อว่าช่วยเพิ่มผลิตภาพให้เขาได้คืออากาศของสเปน

“เราได้ปีนเขา เดินป่า ว่ายน้ำ การถอยออกมาแล้วมองจากมุมที่แตกต่างออกไป เป็นโบนัสสำหรับทุกคนที่ต้องการ” ฮาร์โคเนนกล่าวถึงการทำงานแบบแหวกแนวคนแรกของบริษัท

ฟินแลนด์เอาจริงเอาจังกับยุทธศาสตร์ชั่วโมงทำงานอันหลากหลาย ปี 2539 ออกกฎหมายชั่วโมงการทำงาน เปิดให้พนักงานเข้างานหรือเลิกงานได้ก่อนหรือหลังเวลาทำงานมาตรฐาน 3 ชั่วโมง

เจนนี เฟรดริกสัน เบสส์ ผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์เผยว่า รูปแบบการทำงานยืดหยุ่นมีแต่จะเพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่บริษัทแข่งกันหาคนเก่ง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ประเทศเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยผืนป่าอย่างฟินแลนด์ ประชากรแค่ 5.5 ล้านคน กลับกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยียุโรป ไม่ใช่แค่โนเกีย ฟินแลนด์ยังมีสตาร์ทอัพเกมและบริการการเงินดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จอีกมากมาย

ถึงปี 2554 ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีตารางการทำงานยืดหยุ่นที่สุดในผืนพิภพ ผลการศึกษาของบริษัทบัญชีดัง “แกรนต์ทอร์นตัน” พบว่า 92% ของบริษัทฟินแลนด์ อนุญาตให้พนักงานปรับเปลี่ยนชั่วโมงทำงานของตนได้ เทียบกับอังกฤษและสหรัฐตัวเลขอยู่ที่ 76% รัสเซีย 50% ส่วนญี่ปุ่นมีแค่ 18% เท่านั้น

157865915582

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทั่วโลกก็อภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงประโยชน์ของการทำงานแบบนี้ บริษัทใหญ่ระดับโลกก็เอาด้วย ตั้งแต่เวอร์จินและไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ ไปจนถึงดิกซันส์คาร์โฟน บริษัท ค้าปลีกและบริการด้านไฟฟ้าและโทรคมนาคมข้ามชาติ หลายประเทศออกกฎหมายส่งเสริมชั่วโมงการทำงานแบบยืดหยุ่น เช่น ออสเตรเลียและอังกฤษ

อย่างไรเสียฟินแลนด์ก็ยังเป็นผู้นำ ปีนี้กฎหมายชั่วโมงการทำงานฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ให้สิทธิพนักงานเต็มเวลาส่วนใหญ่ตัดสินใจได้ว่า  ชั่วโมงการทำงานอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะทำที่ไหน เมื่อใด

ที่สวีเดน เพื่อนบ้านฟินแลนด์ มีโครงการทดลองทำงานวันละ 6 ชั่วโมงโดยจ่ายค่าจ้างเท่ากับทำงาน 8 ชั่วโมงที่บ้านพักคนชราของรัฐแห่งหนึ่ง โครงการสิ้นสุดเมื่อปี 2558 ผลที่ได้ผสมผสาน คนงานมีความสุขและสุขภาพดีขึ้นก็จริง แต่ดูแล้วแพงเกินไปและยุ่งยากหากจะปฏิบัติทั่วประเทศสวีเดน เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ทำงานน้อยชั่วโมง บ้านพักคนชราก็จำเป็นต้องจากบุคลากรเพิ่มมาปิดช่องว่าง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจึงต้องหยุดโครงการทำงาน 6 ชั่วโมงต่อวัน

ส่วนแนวคิดเรื่องการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันไม่ใช่เรื่องใหม่ ฝรั่งเศสลดชั่วโมงการทำงานลงเกือบ 20 ปีมาแล้ว เพื่อสร้างสมดุลชีวิตและงาน แต่มาตรการนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนัก ฝ่ายสนับสนุนบอกว่า ช่วยสร้างงานและรักษาสมดุลชีวิต ฝ่ายวิจารณ์บอกว่าลดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฝรั่งเศส

ในเอเชียก็มีเรื่องแบบนี้เหมือนกัน เดือน ส.ค.ที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ญี่ปุ่นทำโครงการ“Work-Life Choice Challenge 2019 Summer.” ทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วัน โดยให้หยุดวันศุกร์เพิ่มอีกหนึ่งวัน พบว่า ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น ยอดขายต่อพนักงานเพิ่มขึ้นเกือบ 40% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเมื่อมีวันหยุดเพิ่มขึ้นพนักงานก็ลาหยุดน้อยลง 25%

157865918299

แต่ผลการทดลองที่ไมโครซอฟท์ญี่ปุ่นก็มีคำถามว่า พนักงานอาจตั้งใจทำงานหนักเพื่อให้โครงการทดลองระยะสั้นๆ มีผลถาวรได้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จริงๆ ก็ได้ และเมื่อถึงวันนั้นแล้วพนักงานจะยังทำงานหนักกันอีกหรือไม่

ส่วนคนที่นิยมทำงานหนักแบบไม่แคร์สื่อก็คือ “แจ็ค หม่า” อภิมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งอาลีบาบา เมื่อเดือน เม.ย. เขาปกป้องแนวคิด “996” อย่างแข็งขัน ซึ่งหมายถึงการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม หรือทำงาน 12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ หลักคิดของเขาคือ ต้องทำงานให้ยาวนานกว่าคู่แข่งจึงจะชนะ

“โดยส่วนตัวผมคิดว่า 996 เป็นพรวิเศษ คุณจะประสบความสำเร็จได้ยังไงโดยไม่ต้องใช้เวลาหรือความพยายามเพิ่มขึ้น” เจ้าพ่ออาลีบาบาชี้แจง ที่เขาต้องพูดแบบนี้เพราะโปรแกรมเมอร์ชาวจีนได้รวมตัวกันประท้วงวัฒนธรรมการทำงานหนักในบริษัทเทคโนโลยีจีนที่เรียกว่า 996 ผ่านทาง GitHub แล้วได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม หม่าตำหนิคนที่ไม่อยากทำงานหลายชั่วโมง “พวกเขาจะไม่ได้ลิ้มรสความสุขและผลตอบแทนของการทำงานหนัก”

++++++

ที่มา:

https://www.bbc.com/worklife/article/20190807-why-finland-leads-the-world-in-flexible-work

https://www.forbes.com/sites/jackkelly/2020/01/08/finlands-prime-ministers-aspirational-goal-of-a-six-hour-four-day-workweek-will-this-ever-happen/#5f0687a93638

Harvard Business Review