เลือกตั้ง 'ประธานาธิบดีไต้หวัน' ชี้สัมพันธ์จีน
วันนี้ (11 ม.ค.) ชาวไต้หวันได้ใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ “ไช่ อิงเหวิน” ลงชิงตำแหน่งเพื่อให้ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ต่อกรกับ “ฮั่น กว๋อ อี๋ว์” คู่แข่งคนสำคัญ
ประธานาธิบดีไช่มาจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ที่นิยมนโยบายแยกตัวเป็นเอกราช การหาเสียงของเธอเน้นปกป้องอำนาจอธิปไตยไต้หวันให้พ้นภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่
ส่วนฮั่นคู่แข่งมาจากพรรคก๊กมินตั๋ง (เคเอ็มที) ที่มีนโยบายเป็นมิตรกับจีนแผ่นดินใหญ่ ชูนโยบายกระชับสัมพันธ์ปักกิ่ง สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมจุดแข็ง-จุดอ่อนของคู่แข่งทั้งสอง ในการเลือกตั้งที่คาดกันว่าจะชี้ชะตาไปถึงจีน
- ไช่ อิงเหวิน
ประธานาธิบดี วัย 63 ปี สร้างประวัติศาสตร์เมื่อปี 2559 ด้วยการเป็นผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย เนื่องด้วยประชาชนไม่พอใจพรรคก๊กมินตั๋งที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลปักกิ่งตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
แต่นับตั้งแต่ไช่ขึ้นครองอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับไทเปก็ไม่ราบรื่นมาตลอด ปักกิ่งไม่สนใจข้อเรียกร้องขอเจรจาจากไช่ แถมยังโดดเดี่ยวไต้หวันตอบโต้ที่ไช่ไม่ยอมรับแนวคิดที่ว่า ไต้หวันเป็นเกาะหนึ่งของจีนตามนโยบาย “จีนเดียว” จึงถูกจีนตัดช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการ เพิ่มแรงกดดันทางทหารและเศรษฐกิจ กีดกันไต้หวันออกจากองค์กรระหว่างประเทศใหญ่ๆ และจีบมิตรประเทศ 7 รายให้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แล้วมาเปิดสัมพันธ์กับจีนแทน
ส่วนนโยบายในประเทศ รัฐบาลของไช่ผลักดันวาระนโยบายชวนถกเถียง ที่เห็นชัดที่สุดคือการลดบำนาญและออกกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ทำให้คะแนนนิยมของเธอตกต่ำ แต่ปีที่ผ่านมาเธอโชคดีหลังจากที่เรตติ้งตกต่ำสุดๆ เหลือไม่ถึง 20% กลับฟื้นขึ้นมานำหน้าฮั่นไปมากได้
นักวิเคราะห์มองว่าเป็นเพราะภัยคุกคามจากจีนและการประท้วงต่อเนื่องในฮ่องกง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลัวพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มองว่า ไต้หวันเป็นของจีนและประกาศจะผนวกรวมเข้าในวันหนึ่ง
ภูมิหลังของไช่เกิดมาในครอบครัวร่ำรวย เคยเป็นนักวิชาการและอยู่ในทีมเจรจาการค้าให้ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ก่อนเล่นการเมือง ด้วยบุคลิกเป็นคนพูดน้อย สุภาพ ไช่ถูกเย้ยหยันบ่อยครั้งในวัฒนธรรมการเมืองแบบชายเป็นใหญ่
ไช่เคยแพ้เลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2555 แต่เธอยังยืนหยัดจนได้เสียงสนับสนุนมากขึ้นจากภายในพรรรคและสาธารณชน จนชนะเลือกตั้งปี 2559 ส่วนนโยบายหาเสียงปีนี้ ส่วนใหญ่ประธานาธิบดีหญิงยังคงชูเรื่องปลอดทุจริต พรรคดีพีพีไม่ก้มหัวให้จีน และย้ำจุดยืน
- ฮั่น กว๋อ อี๋ว์
ผู้สมัคร วัย 62 ปีรายนี้เข้ากับกระแสนิยมคนนอกวงการผู้เข้ามาสั่นสะเทือนนักการเมืองหน้าเก่า ช่วง 2 ปีที่่ผ่านมาฮั่นก้าวจากคนหน้าใหม่ มาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคก๊กมินตั๋ง ได้เสียงสนับสนุนจากแฟนคลับที่นิยมชมชอบเขาอย่างมากจนกลายเป็น “กระแสนิยมฮั่น”
ความโดดเด่นของเขาปรากฏชัดในปี 2561 ที่ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเกาสง ทางตอนใต้ของไต้หวันที่เคยเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคดีพีพีมานาน
ฮั่นใช้ภาพลักษณ์จริงใจ อ่อนน้อมถ่อมตัน และประสบการณ์ตกงานมาดึงดูดฐานเสียงคนรากหญ้า
ผู้สมัครรายนี้เชี่ยวชาญเรื่องการฉกฉวยคำวิจารณ์มาใช้ประโยชน์ ตอนที่โฆษกประธานาธิบดีไช่ดูถูกว่าเป็นคนบ้านนอก โดยเรียกว่า “ซาลาเปาดิน” เขาตอบโต้ด้วยการเป็นประธานงานแข่งขันทำซาลาเปาเสียเลย
ฮั่นเรียกการเลือกตั้งในวันนี้ว่า เป็นการเลือกระหว่าง“สันติภาพหรือวิกฤติ” กับจีน หาเสียงด้วยสโลแกน “ไต้หวันปลอดภัย ประชาชนมั่งคั่ง” พร้อมให้คำมั่นฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนให้อบอุ่นยิ่งขึ้นควบคู่กับการส่งเสริมเศรษฐกิจ
นโยบายนี้ดึงดูดคนได้มากพอดู โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจที่ต้องพึ่งพาจีนแผ่นดินใหญ่มาก แต่เขาก็เสี่ยงถูกวิจารณ์ว่า เป็นมิตรกับจีนเกินไป โดยเฉพาะหลังจากได้พบเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนระหว่างเยือนแผ่นดินใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา