แก้ปัญหา 'บาทแข็ง' ถึงเวลาคิดนอกกรอบ
ไข้ค่าเงินบาทแข็ง แม้จะสามารถใช้ยาพาราเพื่อลดไข้ได้ แต่เป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น รวมถึงช่วงนี้อาจมีปัจจัยบวกจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผู้ประกอบการสามารถช่วงชิงโอกาสนี้ แต่ก็ยังเป็นแต่ช่วงสั้นๆ ทำให้หลายฝ่ายเสนอว่าวิกฤติครั้งนี้ไทยต้องคิดให้นอกกรอบ
โจทย์ใหญ่ประเทศไทยเวลานี้ นอกจาก "วิกฤตความเชื่อมั่น" แล้ว เรายังเผชิญกับ "วิกฤตค่าเงิน" ด้วย โดยในปีที่ผ่านมา "เงินบาท" แข็งค่าขึ้นราว 8.61% เป็น "อันดับหนึ่ง" ในภูมิภาค และยังเป็นการแข็งค่าที่นำโด่งอันดับสองอย่าง "เงินเปโซ" ของฟิลิปปินส์ แบบชนิดไม่เห็นฝุ่น โดยเงินเปโซปีที่ผ่านมาแข็งค่าเพียง 3.81% ส่วนปีนี้เปิดทำการมาแล้ว 2 สัปดาห์ เงินบาทอ่อนลงเล็กน้อยราว 1% แต่สาเหตุการอ่อนค่า น่าจะมาจากการเข้า "ดูแล" โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนผ่านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจนทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ธปท. รายงานตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลข ณ วันที่ 3 ม.ค.2563 ที่ระดับ 2.27 แสนล้านดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ 2.23 แสนล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นราว 4.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 2.02% ภายในสัปดาห์เดียว และยังเป็นสัปดาห์ที่มีวันทำการเพียงแค่ไม่กี่วัน ในขณะที่ฐานะเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ หรือ Forward ก็เพิ่มขึ้นราว 1.43 พันล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 3.58 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 4.17% ..สะท้อนภาพว่า ธปท. เข้าดูแลค่าเงินอย่างหนักหน่วงในช่วงเวลาดังกล่าว
การแก้ปัญหาเงินบาทแข็งตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เข้าใจได้ว่า ธปท. พยายามทำอย่างเต็มที่ เพียงแต่ไม่ได้สื่อสารกับตลาดมากนัก ทำให้การรับรู้และความเข้าใจของผู้ร่วมตลาดมีน้อย อีกทั้งปัญหาดังกล่าวใช่ว่า ธปท. จะสามารถแก้ไขได้เพียงลำพังหน่วยงานเดียว โดยใน "งานประชุมนักวิเคราะห์" ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุหลัก มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ระดับสูง สะท้อนถึงช่องว่างระหว่าง "การออม" กับ "การลงทุน" ที่ถ่างกันมาก และไส้ในของปัญหาดังกล่าว เกิดจากภาคธุรกิจไม่ได้ลงทุนเท่าที่ควร
ผู้ว่าการ ธปท. ยังเปรียบเทียบปัญหาดังกล่าวด้วยว่า เหมือนกับ "คนเป็นไข้" ที่มีอาการให้เห็น แต่ไม่รู้ว่าข้างในมีการอักเสบอะไรตรงไหนหรือไม่ การแก้ไขด้านการเงินอย่างเดียวก็เหมือนกับการกินยาพาราเพื่อลดไข้ ซึ่งอาจแก้ปัญหาได้ชั่วคราว แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาระยะยาว ดร.วิรไท ยังบอกด้วยว่า การแก้อาการอักเสบที่อยู่ภายใน จำเป็นต้องใช้นโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเชิงโครงสร้าง ซึ่งเขาบอกว่าตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีของประเทศที่จะทำ เพราะดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ระดับต่ำ เอื้อต่อการลงทุน อีกทั้งฐานะทางด้านต่างประเทศของไทยก็อยู่ระดับที่เข้มแข็ง
ทั้งหมดที่ ดร.วิรไท กล่าวมา พอจะสรุปใจความได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาคธุรกิจต้องรีบช่วงชิงจังหวะที่เงินบาทแข็ง ดอกเบี้ยต่ำ เร่งการลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดการนำเข้า ช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด บรรเทาการแข็งค่าของเงินบาท และยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัทที่ลงทุนด้วย ...แต่ในมุมของ "นักค้าเงิน" กลับมองว่า แม้ธุรกิจจะเร่งการลงทุน หรือออกไปทุ่มซื้อกิจการในต่างประเทศ แต่ทั้งหมดนี้มักเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของค่าเงินในระยะยาว หลายฝ่ายเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้เกี่ยวข้องจะยกปัญหานี้ขึ้นเป็น "วาระแห่งชาติ" และช่วยกัน "คิดนอกกรอบ" หาแนวทางแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า การตั้ง "กองทุนความมั่งคั่ง" นับเป็นหนึ่งตัวเลือกที่ควรหยิบมาศึกษาดู