อุตสาหกรรมยาเติบโตเฉลี่ย 6.2% ต่อปี
อุตสาหกรรมยา-สมุนไพรอัตราเติบโตต่อเนื่อง เผยปี 2562 อัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.2% ต่อปี คาดว่าปี 2563 มูลค่าของอุตสาหกรรมยาจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ขณะที่ตลาดสมุนไพรมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาท แนะภาครัฐลงทุนเทคโนโลยีสกัดสมุนไพรส่งออก
น.ส.รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อํานวยการกลุ่มโครงการ – ภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มาร์ มาร์เก็ต ประเทศไทย เปิดเผยว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องสวนกระแสเศรษฐกิจ ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.2% ต่อปี
โดยตลาดยาไทยปี 2562 ที่ผ่านมามีมูลค่ารวมโดยประมาณอยู่ที่ 177,000 ล้านบาท และไทยเป็นตลาดเวชภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าปี 2563 มูลค่าของอุตสาหกรรมยาจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
มีปัจจัยบวกมาจากสัดส่วนประชากรสูงอายุของคนไทยที่เพิ่มขึ้น โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของภาครัฐ ประกอบกับการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ซึ่งตลาดยาและเวชภัณฑ์ในปัจจุบันมีสัดส่วนเกือบ 20% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด นอกจากนี้ไทยยังส่งออกยาและเวชภัณฑ์อยู่ที่ 428 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเงินไทย 12,840 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV
น.ส.รุ่งเพชร กล่าวต่อว่าสำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมยาไทยนั้น 95% ของประมาณการผลิตยาทั้งหมดถูกใช้ในประเทศ มูลค่าการจำหน่ายยาในประเทศขยายตัว 4.6% ต่อปีในช่วงปี 2556-2560 ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งช่องทางการจำหน่ายยาแบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐ60% โรงพยาบาลเอกชน 20% และร้านขายยา 20%
ส่วนมูลค่าตลาดสมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติ เนื่องด้วยปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมยาเติบโตขึ้น จากเดิมมีมูลค่ากว่า18,000 ล้านบาทในปี2562 และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาท ภายในปี 2563 นี้
“ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้สมุนไพรเป็นวัตถุดิบ มีมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้าน โดยจะนำไปใช้ในเครื่องสำอาง 77% อาหารเสริม 19% และยา 4% ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีการส่งออกสารสกัดจากพืชของไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ดังนั้น การเติบโตของตลาดสมุนไพรเป็นที่น่าจับตามอง และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันภาครัฐมีนโยบายส่งเสริม อาทิ แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรปี 2560 – 2564 รวมถึงการเพิ่มรายการสมุนไพรเอาไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันเพื่อลดการขาดดุลจากการนำเข้ายาจากต่างประเทศ”น.ส.รุ่งเพชร กล่าว
ทั้งนี้ สมุนไพรแชมป์เปี้ยนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างมาก มี 4 ชนิด ได้แก่ ไพล ใบบังบก กระชายดำ และขมิ้นชัน โดยเฉพาะในส่วนขมิ้นชัน นับเป็นสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ที่มีความโดดเด่น เพราะทั่วโลกให้ความสนใจนำมาใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพและการแพทย์ ถือเป็นโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากขมิ้นชันในรูปแบบออร์แกนิค หรือสารสกัดที่ได้มาตรฐานรับรองด้านความปลอดภัย
“ขณะนี้ไทยมีการสกัดสมุนไพร และมีการส่งออกจำนวนมาก แต่เรายังไม่มีเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่เพียงพอในการจะสกัดสมุนไพรให้เป็นยาเพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรค ซึ่งหากผู้ประกอบการ หรือมีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการสกัดสมุนไพรเพื่อเป็นยาอย่างในต่างประเทศ เชื่อว่าตลาดสมุนไพรจะมีอัตราการเติบโตมากขึ้น และสมุนไพรไทยจะมีมูลค่ามากขึ้น” น.ส.รุ้งเพชร กล่าว
น.ส.รุ้งเพชร กล่าวอีกว่าการพัฒนากลุ่มธุรกิจอาหารเสริม ยา โรงพยาบาล รวมถึงธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอางต้องได้รับการแลกเปลี่ยน เปิดพื้นที่ให้ได้เรียนรู้ และพัฒนาร่วมกัน
ซึ่งภายในงาน CPhI South East Asia 2020 หรือ งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยาและสารสกัดจากธรรมชาติครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะจัดขึ้นในไทยเป็นครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 4-6 มีนาคม 2563 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถือเป็นการรองรับความต้องการ และการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพราะจะมีผู้ประกอบการด้านธุรกิจการผลิตยากว่า 280 ราย จาก 20 ประเทศ ร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและการให้บริการด้านอุตสาหกรรมการผลิตยา มีพาวิเลี่ยนนานาชาติจาก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลี สิงคโปร์ และไทย รวมถึงเป็นการนำเสนอการคิดค้นผลิตภัณฑ์และการบริการด้านการผลิตยาครบวงจร และบริการโปรแกรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ที่คุณสามารถเจรจาและติดต่อธุรกิจกับคู่ค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ที่มาร่วมงานจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ