ปัจจัยลบรุมเร้า ค้าปลีกปรับตัวอย่างไร?

ปัจจัยลบรุมเร้า ค้าปลีกปรับตัวอย่างไร?

ในห้วง 1-2 ปีข้างหน้า วงการธุรกิจค้าปลีกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติ หากผู้ประกอบการไม่เตรียมตัวรับมือ และปรับตัวให้ทัน คงต้องพ่ายให้กับ 7 ปัจจัยรุมเร้านี้

สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกในช่วงปี 2563-2565 มีความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อม "รับมือ" และ "ปรับตัว" โดยสรุป 7 เรื่องหลักด้วยกัน

1.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 2.4 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีการดำเนินการอย่างจริงจังในไตรมาสแรก 2563 กว่ารอบหมุนของวัฏจักรจากการลงทุน การจ้างงานมาถึงการบริโภค อยู่ในช่วง 8-18 เดือน น่าจะส่งผลถึงอุตสาหกรรมค้าปลีกราวครึ่งหลังของปี 2564 เป็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคค้าปลีกอย่างชัดเจนในราวปี 2565

2.โครงสร้างอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งแบ่งเป็น 3 แถว "แถวหนึ่ง" โมเดิร์นเชนสโตร์ รวมศูนย์การบริหารจัดการอยู่ในกรุงเทพฯ มียอดขาย 32% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง "แถวสอง" ค้าปลีกค้าส่งภูธรที่กำลังพัฒนาในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้นำในจังหวัดตัวเอง มีสัดส่วน 20% อีก 53-55% เป็นค้าปลีกค้าส่งขนาดกลาง เล็ก และย่อม ราว 4.5 แสนราย

3.ตลาดการบริโภคค้าปลีกในไทยมีมูลค่าราว 3.8 ล้านล้านบาท การเติบโตจากนี้จะมาจากค้าปลีกภูธรแถวสองเป็นหลักที่มีการขยายตัว มากกว่าจีดีพีของประเทศเป็น 2 เท่า และขยายตัวออกนอกพื้นที่นอกจังหวัดมากขึ้น

4.New Digital Business Model กำลังก่อร่างสร้างตัวในช่วง 2-3 ปีนี้ ภาคค้าปลีกขนาดใหญ่เริ่มลงทุน Digital Technology เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ที่เรียกว่า E-Business เป็นการเชื่อมห้างร้านในโลกออฟไลน์เข้ากับเทคโนโลยีออนไลน์ หรือออมนิแชนแนล

5.ในอนาคตอันใกล้ Retail ต้องใช้ "Data & Asset" ในการสร้างรายได้ แต่ผลวิจัยของ Forrester Consulting ผู้ค้าปลีกที่มีความพร้อมใช้ "ดาต้า" มีแค่ 5% ขณะที่ค้าปลีกโลกพร้อมใช้ดาต้าและ Asset ที่มีสร้างรายได้ 15% การปฏิวัติการช้อปปิ้งสมัยใหม่ จะทำให้ผู้ประกอบการการค้าแบบดั้งเดิม ร้านค้าปลีกอิสระขนาดกลาง-เล็ก นับหมื่นแสนรายอยู่ทั่วราชอาณาจักร อาจได้ผลกระทบถึงขั้นล้มเลิกกิจการ ขณะเดียวกันเป็นการแจ้งเกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มองภัยคุกคามในรูปแบบเทคโนโลยีผสมผสาน กับพฤติกรรมเป็นโอกาสสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่

6.Big Data ถ้าไม่เริ่มวันนี้ก็สายไปแล้ว แต่อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยยังขาด Knowledge และ Know How ห้างค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคไทย กว่า 91% ขาดความสามารถ เทคโนโลยี บุคลากร และกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็นในการนำ "ข้อมูลเชิงลึก" ของลูกค้ามาใช้ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า

7.Electronic Payments จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทุกวันนี้อุปสรรคสำคัญของการชำระเงินผ่านมือถือ ได้แก่ ร้านค้าที่รองรับมีจำนวนจำกัด ต้องเติมเงินเป็นประจำ และใช้เงินสดสะดวกกว่าในการใช้จ่ายเงินจำนวนน้อย แต่เมื่อเริ่มมีการใช้เทคโนโลยี 5G ธุรกรรมทางการเงินจะรวดเร็วและแพร่หลายมากขึ้น เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดย่อย Micro Business เติบโตอย่างรวดเร็ว

157893544188

  • ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไร

ในสถานการณ์ที่ปัจจัยรุมเร้ามากมาย ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคระดับล่างไร้อำนาจในการใช้จ่าย ผู้บริโภคระดับกลางและบนไร้อารมณ์จับจ่าย ต้องวางกลยุทธ์บริหารจัดการให้สอดรับสถานการณ์ โดยเฉพาะ "การลดต้นทุน" และ "ควบคุมค่าใช้จ่าย" เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงอยู่ของธุรกิจ 

ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนสำคัญของธุรกิจค้าปลีกก็คือ ต้นทุนสต็อก หรือสินค้าคงคลัง ก็คือ เงินสด นั่นเอง กลยุทธ์ในการบริหารสต็อกให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดสภาพคล่องของเงินสดสูง

"A Retail Business Can Survive Without Profits… But Not Without Cash!" ธุรกิจค้าปลีกหนึ่งๆ อาจอยู่รอดได้ แม้จะไม่มีกำไร แต่ธุรกิจยากที่อยู่รอดได้ถ้าหากขาดเงินสดหมุนเวียน" สินค้าคงเหลือหรือสต็อกจึงเป็นต้นทุนที่ธุรกิจต้องบริหารให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ