เปิดใจชาวแคนาดา ‘รัก-ไม่รัก’ เจ้า
แม้จะได้ไฟเขียวจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่การดำเนินชีวิตในแคนาดาของเจ้าชายแฮร์รีและพระชายา อาจไม่ราบรื่นโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแค่มีข่าวก็มีปฏิกริยาเชิงลบออกมาแล้ว
เมื่อเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน พระชายา ประกาศว่า ขอลดบทบาทและการปฏิบัติกรณียกิจในฐานะราชวงศ์แถวหน้า แล้วใช้ชีวิตในอเมริกาเหนือมากขึ้น หลายคนเชื่อว่า ทั้งคู่จะไปใช้ชีวิตที่แคนาดา พูดถึงตรงนี้ก็เริ่มมีข้อสงสัยตามมาอีกมากมาย ตามประสาคนดังที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องถูกจับตา
ทำไมต้องเป็นแคนาดา
เจ้าชายแฮร์รี รัชทายาทอันดับ 6 แห่งราชบัลลังก์อังกฤษ พร้อมด้วยเมแกน พระชายา และอาร์ชี โอรส ใช้เวลาฉลองคริสต์มาสในแคนาดาหลายสัปดาห์ เพราะเมเกน อดีตนักแสดงฮอลลีวูดเคยอาศัยและทำงานอยู่ในโตรอนโต 7 ปี ขณะแสดงซีรีส์ดังเรื่อง “Suits” เธอจึงคุ้นเคยกับประเทศนี้ ทั้งยังมีเพื่อนหลายคนให้เป็นที่พึ่งได้
ปี 2554 เมแกนได้รู้จักกับเจสสิกา มัลโรนีย์ สไตลิสต์ภรรยา “เบน มัลโรนีย์” พิธีกรรายการโทรทัศน์บุตรชายอดีตนายกรัฐมนตรีแคนาดา จากนั้นทั้งสองก็กลายมาเป็นเพื่อนสนิท สื่ออังกฤษรายงานว่า ตอนที่เจ้าชายแฮร์รีและเมแกน เสด็จกลับอังกฤษมาวางแผนการใช้ชีวิตต่อไป เจสสิกานี่เองที่เป็นคนดูแลอาร์ชีน้อย
“การตัดสินใจมาอยู่ในแคนาดาสะท้อนว่าประเทศในเครือจักรภพอังกฤษแห่งนี้มีความสำคัญต่อทั้งคู่ไม่น้อย พวกเขามีความสุขกับความรักความอบอุ่นที่ชาวแคนาดามอบให้ อีกทั้งภูมิประเทศสวยงามของแคนาดายังเหมาะกับโอรสน้อยด้วย” โฆษกเจ้าชายแฮร์รีและพระชายาแถลงเมื่อปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา
เดวิด จอห์นสัน อาจารย์รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคป เบรตัน เผยกับเอเอฟพีว่า แคนาดาเป็นเซฟเฮเวน อยู่ที่นี่น่าจะถูกสื่อกวนใจน้อยลงเมื่อเทียบกับอังกฤษหรือสหรัฐ ที่ถูกสื่อจับจ้องการใช้ชีวิตตลอดเวลา และไม่ต้องโดนสื่ออังกฤษวิพากษ์วิจารณ์การจงใจใช้เงินมือเติบของเมแกนด้วย
แต่เมื่อทั้งคู่ประกาศแผนการออกมา สื่อแคนาดาใช่ว่าจะยินดีและพากันตั้งคำถามว่า “ใครจะดูแลค่าใช้จ่ายก้อนโตในการรักษาความปลอดภัยให้เจ้าชายแฮร์รีและเมแกน” ที่ประเมินแล้วน่าจะตกปีละ 1.3 ล้านดอลลาร์ (39 ล้านบาท) ซึ่งรัฐบาลแคนาดายังไม่ตัดสินใจเรื่องนี้
หนังสือพิมพ์เดอะเนชันแนลโพสต์ เสนอว่า เจ้าชายและพระชายา ควรยื่นเรื่องเป็นพลเมืองแคนาดาเหมือนกับชาวบ้านร้านช่องคนอื่นๆ
คริส เซลลีย์ คอลัมนิสต์เดอะเนชันแนลโพสต์ มองว่า ปรากฏการณ์ “เม็กซิท” ปลุกความรู้สึก “รักเจ้า” ในหมู่ชาวแคนาดาบางคน พอๆ กับยั่วยุคนที่ “ไม่เอาเจ้า” ได้อย่างรุนแรง
ด้านหนังสือพิมพ์เดอะโกลบแอนด์เมล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ปฏิเสธคำร้องขอย้ายมาอยู่แคนาดาของเจ้าชายและพระชายา หนังสือพิมพ์ให้เหตุผลว่าประเทศนี้ไม่เคยมีระบบชนชั้นที่สืบทอดตำแหน่งกันทางสายโลหิตเหมือนอย่างอังกฤษ
“แคนาดาไม่ใช่บ้านพักระหว่างทางให้ใครก็ตามที่ต้องการออกจากอังกฤษ แต่ก็ยังอยากเป็นเชื้อพระวงศ์ได้มาพักอาศัย” บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ระบุชัด
อย่างไรก็ตามใช่ว่าชาวแคนาดาจะไม่แฮปปี้ไปเสียทั้งหมด เมื่อเดือน ธ.ค.นายกฯ ทรูโดเคยกล่าวไว้ “คุณเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ที่นี่ยินดีต้อนรับเสมอ”
ส่วนนักวิชาการคนเดิมระบุ“ชาวแคนาดารู้จักเมแกนเพราะดูซีรีส์ Suits ตัวละครที่เธอแสดงน่ารักมาก”
นอกจากนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ชาวแคนาดาส่วนใหญ่ (61%) สนับสนุนให้เจ้าชายแฮร์รีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนต่อไป เมื่อจูลี ปาเยต์ ผู้สำเร็จราชการฯ คนปัจจุบันหมดวาระลงใน 2 ปี
ทั้งนี้ ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นตัวแทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในประเทศอดีตอาณานิคมที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ ผลโพลออกมาแบบนี้ทั้งๆ ที่เจ้าชายแฮร์รีไม่ทรงสนใจตำแหน่งนี้มาก่อน ในอดีตตำแหน่งผู้สำเร็จฯ จะเป็นของคนอังกฤษ เพิ่งมาเป็นคนแคนาดาช่วงทศวรรษ 50
จะว่าไปแล้วเสียงสนับสนุนราชวงศ์ที่แข็งแกร่งสุดมาจากชาวแคนาดาที่พูดภาษาอังกฤษแต่แคนาดาก็มีพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศสด้วย นั่นคือรัฐควิเบก ที่อังกฤษกับฝรั่งเศสเคยทำ “สงครามเจ็ดปี” สุดท้ายฝรั่งเศสยอมยกพื้นที่ีนี้ให้อังกฤษเมื่อปีี 2306 ตามสนธิสัญญายุติสงคราม แต่ประชาชนควิเบกยังใช้ภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศส
“ชาวควิเบกสนใจเจ้าน้อยมาก และรีบบอกเลยว่า แคนาดาควรเลิกยุ่งกับราชวงศ์อังกฤษได้แล้ว” จอห์นสันกล่าวและว่า ในรัฐควิเบกที่ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศสนั้น “ไม่ค่อยรักเจ้าลึกซึ้ง”
อย่างไรก็ดี การที่เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนประทับอยู่ในแคนาดาก็อาจสร้างชื่อเสียงให้กับแคนาดาได้
“พวกเขาเป็นคนดังระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม” นักวิชาการสรุป