เปิด 4 เงื่อนไขยื่นศาลปกครอง พิพากษาคดี 'อู่ตะเภา' ใหม่
กองทัพเรือ ส่งอัยการยื่นศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีอู่ตะเภาใหม่ ชี้มีข้อมูลให้ศาลเข้าใจมากขึ้น ทำงานคู่ขนานเปิดซอง 3 ซีพีพรุ่งนี้ รองโฆษกศาลแจง 4 เงื่อนไขพิพากษาคดีใหม่ “กลุ่มแกรนด์ฯ” ออกโรงหนุนยื่นศาล
การประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าการร่วมลงทุน 2.9 แสนล้านบาท จะเปิดซอง 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ของผู้ยื่นซองครบทั้ง 3 ราย ในวันพรุ่งนี้ (17 ม.ค.) แต่คดีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแล้ว กำลังจะถูกยื่นคำร้องให้มีการพิพากาษาใหม่ ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา
คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจากกรณีที่กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ที่ได้ยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำ ที่ อ.381/2562 เกี่ยวกับประเด็นที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติไม่รับพิจารณาข้อเสนอกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ที่ผู้ยื่นข้อเสนอนำมายื่นภายหลังเวลาที่กำหนดไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชนต่อศาลปกครองสูงสุด
โดยวันที่ 10 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ของกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติรับทราบและปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและพิจารณาดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในขั้นตอนต่อไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ส่งอัยการยื่นศาลพิพากษาใหม่
นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว และเห็นว่าสืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมีผลต่อการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ประกอบกับเป็นกรณีที่กฎหมายได้กำหนดช่องทางให้สามารถดำเนินการได้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีมติให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาคดีใหม่
คณะกรรมการคัดเลือกฯ ขอยืนยันว่า การดำเนินการที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมและให้ความเสมอภาคแก่ผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย โดยตลอดกระบวนการได้เชิญผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมด้วยในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ คาดว่าจะได้เอกชนผู้ชนะการคัดเลือกภายในเดือน มี.ค.นี้
คะแนนซอง2“ซีพี”เกิน80%
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาผลการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ของกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งเป็นการประเมินแบบให้คะแนน (Scoring) ผลการประเมินพบว่าข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ของกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร มีคะแนนของแต่ละข้อย่อยไม่น้อยกว่า 75% และคะแนนรวมของทุกหัวข้อย่อยไม่น้อยกว่า 80 คะแนน
ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีมติให้ข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ของกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ผ่านการประเมิน ทำให้มีผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ทั้งสิ้น 3 ราย
ตั้งคณะทำงานเจรจาสัญญา
ในการนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบให้มีหนังสือแจ้งผลการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) และเชิญกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ร่วมเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ในวันพรุ่งนี้ (17 ม.ค.) โดยมีมติให้มีหนังสือเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 1 กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 2 กลุ่ม Grand Consortium ซึ่งได้ทำการเปิดเอกสารซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ไปแล้ว เข้าร่วมการเปิดซองข้อเสนอในวันดังกล่าว เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย
รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ได้แก่ การเจรจากับเอกชนที่ให้ผลตอบแทนต่อภาครัฐที่ดีที่สุดเป็นไปด้วยความรอบคอบและรวดเร็ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเจรจา 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานเจรจาเงื่อนไขสัญญา และ 2.คณะทำงานเจรจาด้านเทคนิค
ชี้มีข้อมูลแจงศาลเข้าใจขึ้น
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นว่ามีข้อมูลบางอย่างที่จะทำให้ศาลปกครองสูงสุดเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีข้อมูลส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ชี้แจงต่อต่อศาลปกครองสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนการเปิดซอง 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ของกลุ่มซีพีในวันพรุ่งนี้ (17 ม.ค.) ได้รับการยืนยันจากผู้ยื่นซองทุกรายจะเข้าร่วม
สำหรับผู้ยื่นซองทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส มีบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
2.กลุ่ม Grand Consortium มีบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
3.กิจการร่วมค้าบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร มีบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด บริษัท บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮดิ้ง จำกัด บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทโอเรียนท์ ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
4เงื่อนไขขอฟื้นคดีใหม่
นายวชิระ ชอบแต่ง รองอธิบดีศาลปกครองสูงสุด ในฐานะรองโฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า คดีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากาาแล้ว คู่กรณียื่นเรื่องให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งต้องยื่นภายใน 90 วัน กำหนดเงื่อนไขการยื่นคดีใหม่ 4 แนวทาง และการจะรับพิจารณาหรือไม่ขึ้นกับดุลพินิจของศาลปกครองสูงสุด
สำหรับเงื่อนไข 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ศาลปกครองฟังข้อเทจ็จริงผิดพลาดหรือมีพยานหลกัฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
2.คู่กรณีที่แท้จริงหรือบุคคลภายนอกนั้นมิได้เข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณาคดี หรือได้เข้ามาแลว้แต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณา
3.มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาทีทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม
4.คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือขอ้กฎหมายใดและต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคาพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น
ส่วนการยื่นคำขอให้พิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่ต้องทำภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ได้ แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด
กลุ่มแกรนด์หนุนกองทัพเรือ
นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ผู้แทนกลุ่ม Grand Consortium กล่าวว่า กลุ่ม Grand Consortium เห็นด้วยการการที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะยื่นเรื่องให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาใหม่ เพื่อให้ศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งในฐานะที่กลุ่ม Grand Consortium เป็นผู้ร่วมประมูลด้วยก็จะรอดูผลการดำเนินการนี้ ส่วนกรณีที่จะเป็นผู้ฟ้องเองก็คงรอดูแลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ว่าจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ เท่าที่สอบถามนักกฎหมายเกี่ยวกับมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ก็เชื่อว่าเข้าเงื่อนที่กองทัพเรือจะยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณา