ถอดโมเดล 'ตะขาบห้าตัว' แตกหน่อสินค้าใหม่ จับตลาดคนรุ่นใหม่
ส่องไอเท็มใหม่จากค่าย "ตะขาบห้าตัว" จากยาอมสู่สเปรย์แก้ไอ พร้อมถอดโมเดลผู้ประกอบการทรานส์ฟอร์มจากผู้ประกอบการรุ่นเก๋า ถ้าอยากไปต่อ ก็ต้องปรับ
ล้ำไปอีกขั้น! สำหรับสินค้าจากค่าย 'ห้าตะขาบ' ที่ล่าสุดแตกหน่อสินค้าใหม่ 'สเปรย์แก้ไอ' หวังตีตลาดคนรุ่นใหม่และตลาดนอก
งานนี้ เป็นโปรเจคท์ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท ห้าตะขาบ ซิมเทียมฮ้อ จำกัด ผู้ผลิตยาอมลูกกลอนแก้ไอ ‘ตราตะขาบห้าตัว’ พัฒนาผลิตภัณฑ์โฉมใหม่ ‘ยาแก้ไอแบบสเปร์ยพ่น’ เพื่อขยายฐานคนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติ บุกตลาดกว่า 14 ประเทศ พร้อมเปิดตัวแล้วในไตรมาสแรกปี 2563
ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ไบโอเทค สวทช. เผยว่า ไบโอเทคร่วมกับ บริษัท ห้าตะขาบ ซิมเทียมฮ้อ จำกัด ผู้ผลิตยาอมลูกกลอนแก้ไอตราตะขาบห้าตัว ซึ่งยืนหยัดความนิยมอันดับต้นๆ ในไทยมากว่า 80 ปี ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยพัฒนากระบวนการผลิตต้นน้ำและกลางน้ำให้สามารถผลิตสินค้าได้ทันความต้องการของลูกค้าที่มีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ผลงานดังกล่าวสร้างมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สูงถึงกว่า 700 ล้านบาท และนำมาสู่ความร่วมมือต่อเนื่องในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอรูปแบบใหม่ เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น
“สิ่งที่คณะผู้วิจัยพัฒนาคือวิธีการเตรียมวัตถุดิบยาสำหรับกระบวนการผลิตยาแก้ไอในรูปแบบสเปร์ยพ่น โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวกระบวนการอุตสาหกรรม (Industrial bioprocess technology) และเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ยับยั้งจุลชีพ พัฒนายารูปแบบใหม่โดยคงสูตรตัวยาสมุนไพรดังเดิม
จากการทดสอบพบว่า มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์เทียบเคียงยาอมสูตรลูกกลอนที่ผลิตและจำหน่ายในปัจจุบัน สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุอาการคออักเสบ (Pharyngitis) ได้มากกว่า 99.9 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา 5 นาที
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้ ไม่เพียงปรับรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ยา แต่บริษัทและคณะวิจัยยังคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยกระบวนการผลิตทั้งหมดเน้นใช้กรรมวิธีและวัตถุดิบจากธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี และไม่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ เพราะหากผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะไม่ครบตามปริมาณที่กำหนดอาจเกิดการดื้อยาได้ ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาในอนาคตจำเป็นต้องใช้ยาที่แรงขึ้น
กระบวนการผลิตมีการนำศาสตร์ต่าง ๆ เข้าไปเสริมความสามารถให้ทำงานได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น สามารถควบคุมคุณภาพตลอดสายการผลิตให้ไม่ก่อเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นกระบวนการผลิตหลักส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีของคนไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ”
ปัจจุบันบริษัทสามามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอแบบสเปร์ยพ่นกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เป็นที่เรียบร้อย มีการนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มสายการผลิต มีแผนจัดจำหน่ายในไตรมาสแรกปี 2563 โดยวางแผนที่จะมีการทำตลาดเพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายไปสู่คนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติที่ไม่นิยมการบริโภคยาในรูปแบบลูกกลอน ซึ่งบริษัทมีฐานตลาดจากผลิตภัณฑ์เดิมอยู่ก่อนหน้าแล้วกว่า 14 ประเทศ
ดร.กอบกุล กล่าวว่า สิ่งที่ไบโอเทคช่วยหนุนเสริมเสมอมา คือ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยเสริมความแกร่ง ช่วยยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามโจทย์ความต้องการของบริษัท เริ่มจากจุดที่มีความสำคัญเร่งด่วน แล้วจึงแนะนำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาต่อ ไบโอเทคทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทางช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถขยายธุรกิจจากการเป็น SMEs ไปสู่บริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้สู่คนในประเทศ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตามหลัก BCG (Bio – Circular – Green) Economy Model ที่มุ่งเน้นการนำศาสตร์และความรู้และเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยคำนึงถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมา เมธา สิมะวรา ทายาทรุ่น 3 ของแบรนด์ตะขาบ 5 ตัว เคยให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงเบื้องหลังการใช้นวัตกรรมเข้ามาพลิกโฉมครั้งใหญ่ให้กับองค์กรร่วมร้อยปีอย่าง “ตะขาบ 5 ตัว” ครั้งนี้ว่า ถือเป็นความท้าทายในการทำให้แบรนด์เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่จะต้องนำวิทยาศาสตร์เข้ามาควบคุมมาตรฐานคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับ และต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรม โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ น้ำยาสกัดเข้มข้นในขวดสเปรย์พ่นแก้ไอ พร้อมทั้งต่อยอดไปเป็นซอฟต์เจล โดยอัดน้ำยาเข้มข้นนี้เข้าไปในเจลาติน เมื่อผู้บริโภคอมแล้วตัวยาจะเข้าไปแตกในปากและไม่ทำให้ลิ้นดำ นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแล้วยังตอบโจทย์ความต้องการของต่างประเทศอีกด้วย