กูรูห่วง ปี 63 การเมืองสหรัฐ ‘ป่วนโลก’
บรรดาผู้เชี่ยวชาญกังวล ปี 63 การเมืองสหรัฐอาจสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ยิ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีใกล้เข้ามาก็ยิ่งกดดันสถาบันการเมืองของสหรัฐ ส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศ
ในโอกาสการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ประจำปี ที่ผู้นำภาคการเมืองและธุรกิจทั่วโลกมารวมตัวกัน ที่เมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์จะเริ่มต้นขึ้นในสัปดาห์หน้า ดับเบิลยูอีเอฟเตือนว่า ปีนี้โลกผันผวนมากขึ้นจากความขัดแย้งทางการค้าและการเมืองต่างขั้ว ยิ่งทำให้การจัดการความท้าทายระดับโลกยากไปกว่าเดิม แต่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษาเตือนด้วยว่า ความเสี่ยงใหญ่สุดที่โลกกำลังเผชิญในปี 2563 คือ “การเมืองสหรัฐ”
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษา “ยูเรเชียกรุ๊ป” และ “คอนโทรลริสก์” กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การเมืองสหรัฐคือความเสี่ยงใหญ่สุดของโลกในปี 2563 ยิ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีใกล้เข้ามาก็ยิ่งกดดันสถาบันการเมืองของสหรัฐ ส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่แตกแยกกันอยู่แล้วก็ยิ่งแตกแยกกันไปอีกยังไม่นับผลพวงมหาศาลที่มีต่อสภาพภูมิอากาศ ภาคธุรกิจ และนักลงทุน
คอนโทรลริสก์กล่าวว่า การหาเสียงเลือกตั้งสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะผลักดันการตัดสินใจในโยบายต่างประเทศ และใช้นโยบายประชานิยมที่เอื้อประโยชน์ให้แรงงานในโรงงานหรือเกษตรกร ชนิดที่นักลงทุนคิดไม่ถึง
“การหาเสียงจะเน้นที่นโยบายต่างประเทศว่าด้วยการจัดการวิกฤติ เบี่ยงเบนความสนใจของสหรัฐออกจากปัญหาไม่เร่งด่วนและปัญหาในภูมิภาคต่างๆ ทรัมป์กระหายชัยชนะที่เกิดขึ้นจริงก่อนการเลือกตั้ง พร้อมกับขยายข้อได้เปรียบด้านการต่างประเทศในด้านการค้าและความมั่นคง” คอนโทรลริสก์ระบุไว้ในรายงานเมื่อเร็วๆ นี้
ส่วนยูเรเชียกรุ๊ป ซึ่งระบุให้การเมืองสหรัฐเป็นความเสี่ยงใหญ่สุดเป็นครั้งแรกในการประเมินสถานการณ์โลก เตือนว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้จะแตกแยกกันมากที่สุดในรอบกว่า 100 ปี ผลที่ออกมามีแนวโน้มว่าประชากรอีกครึ่งหนึ่งมองว่าไม่ชอบธรรม นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่าจะมีการโต้แย้งผลการเลือกตั้งไม่ว่าใครจะชนะก็ตาม
"การเลือกตั้งปี 2563 ก็คือเบร็กซิทเวอร์ชันสหรัฐ การลงคะแนนแบ่งฝักฝ่ายกันสุดขั้ว ซึ่งผลการเลือกตั้งมีความเสี่ยงน้อยกว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังการลงคะแนนของชาวอเมริกัน เป็นการแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน และเกิดขึ้นในประเทศที่ความไม่แน่นอนภายในส่งผลสะเทือนไปถึงต่างประเทศ
ส่วนรายงานก่อนการประชุมประจำปีที่ดาวอส ดับเบิลยูอีเอฟสำรวจผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบาย 750 คนทั่วโลก ชี้ว่า การเผชิญหน้ากันทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในต่างขั้วเป็นความเสี่ยงสูงสุดของปีนี้
เมื่อรวมกันเท่ากับว่า โลกกำลังเผชิญปัญหาอันเจ็บปวด ที่มีทางออกชัดเจนเพียงไม่กี่ทาง การที่การเมืองในประเทศพัฒนาแล้วแตกแยกมากขึ้นทุกที บั่นทอนกฎระเบียบที่เคยหนุนการค้าและโลกาภิวัตน์มานานหลายสิบปี ให้อำนาจผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งกระทำการแต่เพียงฝ่ายเดียวแล้วเติมเชื้อความขัดแย้ง เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ผู้เข้าร่วมประชุมดาวอส ปฏิเสธแนวคิดที่ว่า การเมืองอเมริกันที่วุ่นวายคือภัยคุกคาม
“ผมไม่คิดว่าจะส่งผลอะไรกับเศรษฐกิจโลกนะ” ขุนคลังสหรัฐกล่าวและว่า ประเด็นการเมืองอื่นๆ เช่น การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และการเลือกตั้งที่ไม่มีทางออกในอิสราเอลก็ไม่มีผลเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เรื่องชวนปวดหัวยังไม่หมดแค่นี้ แต่ยังมีเรื่องวิกฤติสภาพอากาศ สหรัฐกับจีนสู้กันเรื่องเทคโนโลยีแห่งอนาคต ความตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์การเมืองในบางพื้นที่ของรัสเซีย และการสู้รบในตะวันออกกลางที่ยังดำรงอยู่ต่อเนื่อง
จอห์น ดรีซิก ผู้เขียนรายงานดับเบิลยูอีเอฟ ประธานบริษัทวิจัย “มาร์ชแอนด์แมคเลนแนน อินไซท์” กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีก่อน นักวิเคราะห์ความเสี่ยงส่วนใหญ่กังวลเรื่องปัญหาการเงิน เช่น ฟองสบู่สินทรัพย์ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นกังวลเรื่องอื่นที่ซับซ้อนกว่าและมักเชื่อมโยงกัน
“ปี 2563 เรามีแนวโน้มเชิงลบผสมผสานกันชนิดที่คนรุ่นเราไม่เคยเจอมาก่อน ส่วนสภาพแวดล้อมที่กำลังเสื่อมถอยก็มีแนวโน้มซ้ำเติมวิกฤติโลกมากขึ้น” นักวิเคราะห์จากยูเรเชียกรุ๊ปเตือน
ปีนี้เกิดการเผชิญหน้ากันในสองจุดเดือดสำคัญของโลกแล้ว การสังหารกาเซ็ม โซไลมานี นายพลคนสำคัญของอิหร่านตามคำสั่งประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้สองประเทศเสี่ยงทำสงครามกันเต็มที ทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับซัพพลายน้ำมันในตะวันออกกลาง จุดชนวนให้รัฐบาลเตหะรานเร่งเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ที่อาจปูทางให้อิหร่านสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้
ความตึงเครียดลดลงเมื่อกองทัพสหรัฐไม่ตอบโต้รุนแรงกรณีอิหร่านโจมตีฐานทัพในอิรัก และทรัมป์ก็ลดการใช้วาจาร้อนแรงลง เหล่านักวิเคราะห์เชื่อว่า อิหร่านซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงและถูกประชาชนประท้วงอยู่แล้ว ตอนนี้จึงพยายามหลีกเลี่ยงขัดแย้งกับสหรัฐอย่างเปิดเผย แต่ก็มีโอกาสโจมตีผลประโยชน์สหรัฐด้วยเช่นเดียวกัน
“อิหร่านจะหาทางป่วนเส้นทางเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียต่อไป ทั้งยังชอบโจมตีศัตรูด้วยวิธีที่ไม่สมมาตรและไม่คาดฝันด้วย โดยใช้ศักยภาพอันแข็งแกร่งในการโจมตีไซเบอร์และเครือข่ายตัวแทนที่มีอยู่ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง พุ่งเป้าไปยังพลเมืองและสินทรัพย์ของสหรัฐและพันธมิตร” ยูเรเชียกรุ๊ปประเมิน
ส่วนการเมืองภายในสหรัฐล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรประชุมกันเมื่อวันพุธ (15 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น มีมติเสียงข้างมาก 228 ต่อ 193 เสียง เห็นชอบส่งต่อชุดบทบัญญัติว่าด้วยการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ 2 ข้อ ได้แก่ การใช้อำนาจมิชอบและการจัดขวางกระบวนการทำงานของสภาคองเกรส เข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไปของวุฒิสภา
พร้อมกันนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังมีมติด้วยเสียงข้างมาก ตามจำนวนสมาชิกของทั้งสองพรรค จัดตั้งคณะผู้แทนพิเศษ 7 คน ทำหน้าที่เป็นอัยการร่วมในกระบวนการพิจารณาถอดถอนของวุฒิสภา
มิตช์ แมคคอนเนลล์ แกนนำเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา กล่าวว่า กระบวนการจะเริ่มขึ้นในวันที่ 21 ม.ค. และใช้เวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้น้อยมากที่วุฒิสภาจะตัดสินว่าประธานาธิบดีทรัมป์กระทำความผิด เนื่องจากต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของส.ว.100 คน และรีพับลิกันครองเสียงข้างมาก