ศึก 'สหรัฐ vs. อิหร่าน' จะจบอย่างไร?
เจาะลึกประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ และอิหร่าน ว่าบทสุดท้ายของศึกระหว่างศึกนี้จะจบอย่างไร? และผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ จะเป็นอย่างไรบ้าง? มาหาคำตอบกัน
สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนา Hot Issue #1/2563 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เลยถือโอกาสนี้ สรุปเนื้อหาในงานสัมมนามาฝากแฟนคอลัมน์กัน
ในความเป็นจริงแล้ว ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ที่ปะทุขึ้นมาจากการสังหารนายพลชาซิม โซไลมานี หลังวันปีใหม่ที่ผ่านมา ที่ตอนนี้ดูเหมือนจะเริ่มเบาลงสักนิดแล้ว แท้จริงแล้ว จุดที่น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีความรุนแรงที่สุดไม่ใช่ในขณะนี้ หากแต่เป็นช่วงกลางปีนี้ เนื่องจากจะเป็นช่วงเวลาที่อิหร่านน่าจะสามารถตอบโต้โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการหวังผลให้เขาแพ้การเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ได้มากที่สุด บทความนี้ ผมจะขอนำเสนอใน 2 ประเด็นหลัก คือ บทสุดท้ายของศึกระหว่างศึก "สหรัฐ vs. อิหร่าน" จะจบอย่างไร และ ผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ จะเป็นอย่างไรบ้าง
โดยคาดว่า รูปแบบของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน จะแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
รูปแบบที่หนึ่งกรณีที่เกิดความขัดแย้งโดยที่เกิดการโจมตีทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจกันไปมาระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน โดยที่ไม่มีการปะทะกันในสมรภูมิ โดยเรามองว่าการปะทะของทั้งคู่ จะจบด้วยผลลัพธ์ออกมาเป็น 3 ทางออก คือ
ทางออกแรก จบด้วยการยอมแพ้ของอิหร่าน จากการที่ไม่สามารถทนต่อมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีระดับความรุนแรงมากขึ้นอีกต่อไปซึ่งโอกาสอยู่ที่ราวร้อยละ 30 ทั้งนี้ ทรัมป์คงต้องเร่งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านให้หนักขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงกลางปีนี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าจะรุนแรงที่สุด เนื่องจากทางทรัมป์รู้ดีว่านั่นคือช่วงเวลาที่ทางอิหร่านจะก่อการร้ายต่อสหรัฐด้วยความรุนแรงที่สุดเช่นกัน เนื่องจากสามารถหวังผลให้ทรัมป์แพ้การเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้ได้
ทางออกที่สอง จบด้วยการยอมเลิกราของสหรัฐ ซึ่งหมายถึงว่าโดนัลด์ ทรัมป์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปลายปี 2020 โดยประธานาธิบดีท่านใหม่จะไม่สานต่อนโยบายทางการทหารในรูปแบบนี้กับอิหร่านอีกต่อไปซึ่งโอกาสอยู่ที่ราวร้อยละ 40 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการก่อการร้ายของอิหร่านต่อสหรัฐแรงมาก จนกระทั่งทรัมป์จำเป็นต้องส่งทหารไปในจุดเสี่ยงในอิรักและอาจมีการเสียชีวิตของทหารอเมริกันในที่สุด
ทางออกที่สาม ความขัดแย้งที่ยังคงโจมตีต่อกัน ซึ่งของทั้งคู่จะเป็นไปมาแบบไม่มีวันจบ มีโอกาสประมาณร้อยละ 20
รูปแบบที่สอง เกิดการปะทะกันในสมรภูมิแบบสงครามเต็มรูปแบบ ซึ่งคาดว่าจะกินเวลาประมาณ 5-10 เดือน โดยที่โอกาสที่จะเกิดขึ้นราวร้อยละ 10 สำหรับในกรณีนี้
ส่วนผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว เป็นไปดังตารางที่ 2 ดังนี้
กรณีที่ 1 การโจมตีบ่อน้ำมันขนาดไม่ใหญ่มากของสหรัฐและพันธมิตรโดยสถานการณ์เช่นนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นชั่วคราว โดยโอกาสอยู่ที่ร้อยละ 65 โดยที่ราคาน้ำมันดิบจะสูงขึ้นเป็น75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในทันที และจะลดลงเหลือ 71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเวลาต่อมา โดยที่ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นในระยะเวลาไม่นานนัก
กรณีที่ 2 การปิดทางเดินเรือส่งน้ำมันของช่องแคบเฮอร์มุตซ์ ที่มีปริมาณของน้ำมันดิบที่ผ่านช่องแคบฮอร์มุตซ์กว่าร้อยละ 20 ของอุปทานรวมของโลก หากอิหร่านตัดสินใจใช้กำลังทหารในการปิดช่องแคบนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นนานกว่ากรณีแรก
ทั้งนี้ จากการที่การส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ มีปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบรวมกัน ประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน คาดว่าหากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุตซ์ขึ้นมาจริงๆ ทั้งสองประเทศนี้ ก็ยังสามารถใช้ช่องทางออกทางทะเลแดงในการขนถ่ายน้ำมันออกจากตะวันออกกลางเพื่อส่งออก จึงทำให้มองได้ว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์รวมกันจะลดลงจากการปิดช่องแคบนี้ ประมาณ 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวันโดยที่ราคาน้ำมันดิบจะสูงขึ้นเป็น 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในทันที และจะลดลงเหลือ 74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเวลาต่อมา
กรณีที่ 3 การโจมตีด้วยกำลังทหารโครงสร้าง Facilities ของโรงกลั่นหลักๆของซาอุดิอาระเบียหรือพันธมิตรของสหรัฐ โดยกำลังทหารอิหร่าน ซึ่งทางอิหร่านเพิ่งออกข่าวว่ามี Site ที่จะโจมตีได้กว่า 300 แห่ง ซึ่งกบฎฮูติได้เคยโจมตีโรงกลั่นของซาอุดิอาระเบียช่วงเดือนกันยายน ปี 2019 โดยคาดว่าโอกาสของกรณีอยู่ที่ร้อยละ 15 โดยที่ราคาน้ำมันดิบจะสูงขึ้นเป็น 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในทันที และจะลดลงเหลือ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเวลาต่อมา
ลองมาดูกันว่า ในปี 2020 ศึก "สหรัฐ vs. อิหร่าน" จะจบในรูปแบบไหนหรือไม่จบอย่างไร
หมายเหตุ : หากท่านสนใจงานสัมมนามุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2020 : "The way to Invest in 20/20" ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2563 เวลา 09.00-16.30 น. สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง fb.com/MacroView