ความจริงจากเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้

ความจริงจากเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้

มองความจริงอีกด้านที่อยู่หลังความสูญเสียตลอด 16 ปีของเหตุความไม่สงบของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านความเห็นของตัวแทนเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ รวมทั้งข้อมูลเชิงสถิติกระทรวงมหาดไทย

เหตุการณ์ความรุนแรงที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เดินทางมาครบ 16 ปีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจาก วันนั้นเมื่อปี 2547 เกิดเหตุ "ปล้นปืน" 413 กระบอกจาก กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ "ค่ายปิเหล็ง" อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ก่อนจะมีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ตามมา

จากรายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ทำการคัดกรองเหตุรุนแรงประเภท "อาชญากรรมทั่วไป" ออกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขัดแย้งผลประโยชน์ การเมืองท้องถิ่น ขัดแย้งส่วนตัว หรือแม้กระทั่งชู้สาว พบว่า ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุความไม่สงบมาแล้วทั้งสิ้น 10,119 เหตุการณ์ (ถือว่าทะลุ 10,000 เหตุการณ์ จากปีที่แล้วอยู่ที่ 9,985 เหตุการณ์) มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิต 4,083 ราย บาดเจ็บ 10,818 ราย

ที่น่าตกใจคือกว่าครึ่งของทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสถิติเหตุก่อกวนอีก 3,593 เหตุการณ์ ความรุนแรงเหล่านี้ยังส่งผลกระทบออกไปในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก และเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งหากนับเฉพาะเด็กที่สูญเสียพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่จากสถานการณ์ความไม่สงบ และในวันเกิดเหตุอายุไม่เกิน 25 ปี พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 7,297 คน แยกเป็น จังหวัดปัตตานี 2,657 คน ยะลา 1,914 คน นราธิวาส 2,513 คน และสงขลา 213 คน

ไม่ว่าจะเป็นยอดตัวเลขผู้เสียชีวิต ที่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีใครเป็นรายสุดท้ายอย่างแท้จริง หรือจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเกี่ยวกับเหตุความไม่สงบ ล้วนนำไปสู่คำถามที่เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อสังคมได้เห็นข่าวความรุนแรงในพื้นที่ปรากฏบนพื้นที่สื่อ

ฤา 3 จังหวัดชายแดนใต้จะถูกสาปด้วยความรุนแรง และความตายกันแน่

"เรามักจะเจอคำถามว่า เห้ย ที่นั่นเป็นยังไง ระเบิดเยอะไหม คือ เราอยากบอกว่า มัน... มันไม่ได้น่ากลัวนะครับ มันน่าสนใจมากกว่าที่บ้านเรา" อิลฮัม ดอมะ ตัวแทนเยาวชนจากชายแดนใต้เล่าประสบการณ์ที่เขาเจอกับตัวเองเวลาคนต่างจังหวัดได้รู้ว่าเขามาจากพื้นที่สีแดงอย่างปลายด้ามขวาน

ไม่ต่างกับ สุชาวดี สวนทอง และอามีณา อาแล ที่มักเจอคำถาม "ฆ่ากันตายทุกวันจริงไหม" พ่วงตามมาเสมอหลังจากแนะนำตัวเองว่ามาจากที่ไหน
" ภาพจำของเขาสำหรับคนที่ไม่เคยมานะคะ ก็คงจะมีแต่ภาพเหตุการณ์ความไม่สงบ มีคนเสียชีวิต อาจจะเป็นภาพจำที่มีทหารเต็มไปหมดทั้งจังหวัด แต่ถ้าเป็นคนที่เคยไป จ.ปัตตานี แล้วนะคะ เขาก็จะได้เห็นว่า วิถีชีวิตของคนที่นั่นจะมีวัฒนธรรมที่ต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ แล้วก็มีความเป็นเอกลักษณ์ แล้วมันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลย" สุชาวดี อธิบายเพิ่ม

นอกจากเสียงระเบิด และรอยกระสุนที่ทำให้ข่าวร้ายที่บ้านพวกเขาแพร่ไวราวกับไฟลามทุ่ง ในความรู้สึกของ อิลฮัมเองยังยืนยันถึงความสวยงามของธรรมชาติปลายด้ามขวานที่ยังสมบูรณ์อยู่ ซึ่งสิ่งที่เขาบอกก็ไม่ได้เกินจริงไปเสียทีเดียว เพราะพื้นที่กว่า 3.9 แสนไร่ ของผืนป่าฮาลาบาลา ได้รับการยอมรับว่า เป็นป่าดิบชื้น หรือป่าฝนเมืองร้อนที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนับรวมพื้นที่ป่าฮาลาบาลาเข้าเป็นผืนเดียวกับป่าเบลุ่มของมาเลเซียแล้วล่ะก็ มีการประเมินว่า นี่คือป่าสมบูรณ์ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ และชีววิทยาเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก อะเมซอน และป่าอินโดนีเซียเท่านั้น หรือแค่สถานะการเป็นบ้านของ นกเงือกจำนวน 10 ชนิด จากทั้งสิ้น 13 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทยก็ไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมแล้ว

157924031942

หรือในแง่ของความเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรม 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีประชากรรวม 1.95 ล้านคน ผู้คนกว่าร้อยละ 83 นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีคนพุทธ คริสต์ ฮินดู และคนไทยเชื้อสายจีน อาศัยร่วมอยู่ด้วย และด้วยความพิเศษของการเป็นพื้นที่หลากวัฒนธรรมทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างประเทศเดินทางมาเยือนพื้นที่ 3 จังหวัดอยู่เสมอ โดยข้อมูลจากกองสถิติและวิจัย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมการท่องเที่ยวพบว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นจะมีผู้มาเยือนราว 8 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

"หนูอยากให้แบบ... ลองเปิดใจ ให้ลองมาเที่ยวดู ให้ลองหาข้อมูล ให้ลองเอะใจทุกครั้งที่เห็นข่าวหรือข้อมูล มันใช่อย่างที่ข่าวถูกเสนอไปจริงๆ หรือเปล่า หรือว่า ไม่ตั้งแง่เวลาเจอเหตุการณ์อะไรอย่างนี้" อามีณาเผยความรู้สึกที่อยากให้สังคมเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อบ้านเกิดของเธอ

ไม่ต่างจากสุชาวดีที่ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า คน 3 จังหวัดมีความน่ารัก และเป็นมิตร ซึ่งการมีหลายศาสนาอยู่ในพื้นที่ ก็ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรม และความแตกต่างซึ่งกันและกัน นำไปสู่แนวทางการอยู่ร่วมกันได้ตลอดมา

" มันเหมือนที่ๆ อื่นนะครับ ไม่ใช่ว่าเป็นพื้นที่สีแดงเอย อันตรายเอย อยากให้ทุกคนมาลองดู" อิลฮัม ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ แล้วคุณจะเชื่อใคร