ธุรกิจ
การลงทุนกับสิ่งแวดล้อม ได้อะไรตอบแทน?
กระแสรักษ์โลกแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่ประชาชนหรือผู้บริโภค แต่เหล่าผู้ประกอบการหรือบริษัท ต่างก็ต้องปรับตัวรับกระแสรักษ์โลกตรงนี้ด้วย ต้องลงทุนทั้งเงินและคนอย่างมาก หลายคนเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วบริษัทเหล่านี้ได้อะไรตอบแทนบ้าง?
16 มกราคม 2563 บริษัทไมโครซอฟท์ แถลงข่าวที่น่ายินดีมากเรื่องการป้องกันมลภาวะโดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าอีกสิบปี คือ ค.ศ.2030
นอกจากที่จะไม่ปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ (carbon neutral) แล้วบริษัทก็ยังจะเป็นตัวอย่างในการนำเอาคาร์บอนออกจากบรรยากาศด้วย (carbon negative)
และภายใน 2050 บริษัทสัญญาว่าจะกำจัดคาร์บอนออกจากสิ่งแวดล้อมตามปริมาณที่ได้สร้างเป็นภาระของโลกมาตั้งแต่เปิดกิจการเมื่อปี 1975
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนมาก ซึ่งหลายบริษัททั่วโลกได้ประกาศนโยบายชัดเจนเรื่องการปรับวัฒนธรรมและนโยบายเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบและร่วมมือกับสังคมรณรงค์รักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม แต่ในกรณีของบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งประกาศว่าจะย้อนหลังกลับไปทำความสะอาดสิ่งที่สร้างเป็นภาระไว้ตั้งแต่เริ่มต้นมาถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกและไม่มีใครทำมาก่อน
มีผู้วิจารณ์ว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งทางไมโครซอฟท์ยืนยันว่าได้ปฏิบัติมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว คือให้พนักงานทุกคนในบริษัทคิดทุกเรื่องให้รอบคอบโดยคำนึงถึงเรื่องมลภาวะและทางบริษัทจะนำนโยบายการลดมลภาวะไปปฏิบัติกับบริษัทคู่ค้าในระบบทั้งหมด ตัวอย่างเช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และเปลี่ยนพาหนะทุกคันให้มาใช้พลังงานไฟฟ้า
ไมโครซอฟท์จัดงบประมาณเพื่อการวิจัยเรื่องนี้เริ่มต้นที่ 1 พันล้านเหรียญ ซึ่งเน้นทั้งเทคโนโลยีหลายประเภทที่จะดูดคาร์บอนออกจากบรรยากาศจนถึงวิธีการแบบธรรมชาติ เช่น การปลูกต้นไม้
หลังจากการประกาศนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ ราคาหุ้นของ Microsoft พุ่งขึ้นภายในวันนั้นถึง 2% ซึ่งหากคำนวณจากมูลค่าของบริษัทซึ่งสูงประมาณ 1.2 ล้านล้านเหรียญ ก็ดูคล้ายกับว่าผู้บริโภคและนักลงทุนชื่นชมกับทิศทางของบริษัท และให้รางวัลทันทีถึง 24 พันล้านเหรียญ นับว่าเป็นการลงทุนที่ผลตอบแทนสูงมาก (1: 24)
หลายบริษัทระดับโลกได้เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องนี้ เช่น อินเทล (Intel-Semiconductors and Equipment) มีการวัดผลโดยให้รางวัลพนักงานทุกคนตามดัชนีของการดูแลสิ่งแวดล้อม Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ กูเกิล (Google)ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมพลังงานโดยประหยัดได้เกินกว่า 40%
บริษัทแอปเปิล (Apple Inc.) ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เริ่มตั้งแต่ปี 2018 และเริ่มตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ได้ออกมาตรฐานควบคุมขยะที่เกิดจากสินค้าของแหล่งผลิตและแหล่งขายรวมทั้งรับคืนภาระขยะจากผู้บริโภค
อิเกีย (IKEA) ดูแลการผลิตการออกแบบการขายรวมทั้งวัสดุที่ใช้บรรจุสินค้าและการขนส่ง รวมถึงการจัดระบบของร้านค้าด้วยความรอบคอบ และคำนวณถึงทุกมุมละเอียดในการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติให้มากที่สุด และหาทางปรับปรุงตลอดเวลา ฯลฯ
หันมามองจีนบ้าง มีความพยายามที่จะเปลี่ยนทิศทางจากการทำลายมาเป็นการสร้างสรรค์และถนอมธรรมชาติ เช่น ทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้พยายามปรับตัวเป็นผู้นำโลก โดยใช้การลงทุนระหว่างชาติเป็นแนวทางการส่งออกการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์โรงงานไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเจตนาดี แต่ในเชิงปฏิบัติยังประสบกับอุปสรรคหลายอย่าง เพราะหลายประเทศซึ่งกำลังพัฒนามีความจำเป็นต้องทำงานแบบเร่งด่วน จึงตกอยู่ในภาวะคล้ายกับในประเทศจีน คืออยากจะเลิกใช้โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน แต่ก็ยังเลิกไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะปรับคุณภาพของอุปกรณ์ให้มีความสะอาดมากขึ้น แต่ปัญหาของมลภาวะก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
ส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งการพัฒนาเรื่องการใช้รถพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ เป็นที่ได้รับความนิยมมาก โดยเริ่มในปี 2017 รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณโน้มน้าวให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทำให้เกิดการตื่นตัวและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้ จนกลายเป็นแนวหน้าของโลก
ทัศนคติของผู้บริโภคทั่วไปก็เริ่มเปลี่ยน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่มีใครให้ความสำคัญกับรถที่ใช้น้ำมัน และยิ่งกว่านั้น มีการก้าวกระโดดไปสู่นวัตกรรมที่ไม่ใช้คนขับพาหนะต่างๆ แต่ทดแทนขับเคลื่อนด้วยสมองกล และค่านิยมแห่งการซื้อพาหนะเป็นของตนเองเก็บไว้ในเคหะสถานนั้น ก็เริ่มจางไป คนจีนรุ่นใหมกำลังผันแปรไปในการใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อเรียกบริการพาหนะต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังใช้คนขับเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอนาคตอันใกล้จะใช้เป็นสมองกล
จีนตั้งนโยบายในการซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอนไว้ที่ 7 เหรียญสหรัฐต่อตัน คืออนุญาตให้บริษัทที่ลดการสร้างมลภาวะ สามารถนำสิทธินั้นไปขายได้ และเพิ่มราคาให้ในอัตรา 3% ต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 แต่นโยบายนี้ ยังไม่ค่อยได้ผล เพราะราคาที่ตั้งไว้ต่ำเกินไป ขณะนี้มีการวิเคราะห์ว่าควรจะเพิ่มรางวัลให้สูงขึ้น
เมืองไทยเราระยะนี้ มีปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศสูงมาก ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นในเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และสร้างความเครียดให้กับทุกคน การวิพากษ์วิจารณ์นับว่าหนักหน่วงขึ้นทุกปี และแทบจะส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนในการบริหารบ้านเมือง ความหวังที่เห็นคือ การปรับคุณภาพของน้ำมันให้สูงได้มาตรฐานยุโรป-6 การบังคับใช้กฎหมาย และประชาสัมพันธ์ขอร้องให้ทุกคนช่วยกันสอดส่องมิให้มีการเผาวัสดุการเกษตรตกค้างต่างๆ เช่น ในไร่อ้อย หรือนาข้าว และความร่วมมือจิตอาสาตามชุมชนต่างๆที่เสนอแนะความคิดสร้างสรรค์ระดับภูมิปัญญาชาวบ้าน การรณรงค์ทางด้านความคิดและแนวทางปฏิบัติของสถาบันต่างๆ ทั้งการศึกษา ศาสนาและชุมชน ล้วนเป็นสิ่งที่น่าชมเชยและช่วยเหลือกันทำต่อไปโดยไม่ย่อท้อ
สิ่งที่เราทำดีอยู่แล้ว ก็ควรช่วยกันทำต่อไป เช่น การกำจัดขยะพลาสติกซึ่งเห็นการตื่นตัวทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคด้วยการปฏิเสธไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย การรู้จักนำขยะมาหมุนเวียนทำประโยชน์และรู้ถึงประโยชน์ของการเอาวัสดุธรรมชาติเข้ามาประกอบการใช้งาน และธุรกิจประจำวันร้านอาหาร โฮมสเตย์ หรือ ตลาดนัดต่างๆ เราเห็นถึงคุณค่าและความสวยงามของการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่นใบตองหรือไม้ไผ่มากขึ้น และผู้บริโภคก็ตอบสนองอย่างชัดเจน การใช้ปิ่นโตถุงผ้าและตะกร้าได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวันกลายเป็นแฟชั่นและค่านิยมใหม่ เราเดินถูกทางแล้วครับ
จากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นผู้นำเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีผลตอบแทนเป็นเงินมหาศาลอย่างที่เราเห็นตัวอย่างของไมโครซอฟท์ มหาอำนาจเศรษฐกิจอย่างจีนที่พยามเปลี่ยนทิศทางของการผลิตพลังงานและพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือการเป็นผู้นำแบบไทยไทยโดยการกลับมาใช้สิ่งเรียบง่ายที่หาได้จากธรรมชาตินั้น ผลตอบแทนถึงแม้ไม่ใช่เงินมหาศาล แต่เป็นคุณค่าที่คุ้มอย่างประเมินไม่ได้
เราอยู่ในโลกสวยงามใบนี้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นใครอยู่ที่ไหนในโลก ทำงานเล็กใหญ่ระดับใดก็ตาม เราต้องช่วยกันทุกวิถีทางตามความสามารถ ทะนุถนอมธรรมชาติด้วยความตั้งใจจริงและมีเจตนาที่ดี สนับสนุนกิจการของผู้ประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ให้คำชมเชยและความเห็นกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เป็นหูเป็นตาสอดส่องแหล่งที่เป็นต้นเหตุแห่งมลภาวะ สิ่งต่างๆเหล่านี้เราทุกคนทำได้ อย่าเพิกเฉย อย่าท้อใจ เป็นการลงทุนที่ผลตอบแทนคุ้มค่ามากครับ