'สแตนชาร์ด' ชี้ปัจจัยเสี่ยงรุมศก. หวัง 'งบรัฐ' พระเอกหนุนเติบโต
โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปโต "ตามศักยภาพ" ที่ระดับ 4.0% อย่างที่เคยทำได้ในอดีต “ไม่ง่าย” และคงยังห่างไกลเกินไปสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้
เพราะจากคาดการณ์นักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ต่างมองว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทาง “ชะลอตัว” อยู่ ยิ่งในภาวะที่มีหลายปัจจัยรุมเร้าทั้งในแลดต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยต้องการแรงผลักดันมากขึ้น เพื่อทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้แย่ลงไปกว่าเดิม
จากมาตรการที่ออกมาแล้วหลายสำนักวิจัย คาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2563 เติบโตเพียงเล็กน้อย โดยคาดการณ์ว่าอยู่ที่ระดับ 2.8-3.0% เท่านั้น จากปี 2562 คาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัวในระดับ 2.5%
“ทิม ลีฬหะพันธุ์” นักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ฉายภาพเศรษฐกิจไทยปี 2563 ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยรวมยังคงชะลอตัว การบริโภคภายในประเทศยังอ่อนแอ สงครามการค้าสหรัฐและจีน แม้บรรยากาศการเจรจาดีขึ้น แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องลุ้นและติดตามอีกมาก ขณะเดียวกัน มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยที่อาจยืดเยื้อ อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆเพิ่มขึ้นได้ เช่นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากรายได้ประชาชนที่ลดลง ทำให้ต้องหันไปกู้หนี้เพื่อนำมาใช้จ่าย เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมี 4 ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา ที่จะมีผลต่อภาพรวมการขยายตัว
ด้านแรก คือ มีโอกาสที่จะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยได้ 1ครั้ง ในไตรมาสแรก ปี 2563 อีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดหรือ นิวโลว์ ที่ 1.0% ได้ แม้จะเป็นสิ่งที่ยากสำหรับกนง.ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยต่ำลงอีก และเป็นความท้าทายค่อนข้างมาก แต่ก็มีหลายปัจจัยที่สะท้อนว่ากนง.จะลดดอกเบี้ยลงได้ ทั้งจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ล่าสุดมาอยู่ที่ 30.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแม้ค่าเงินบาทปัจจุบันจะอ่อนค่าลง และไม่ได้แข็งค่ามากสุดในภูมิภาคแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่แข็งค่า อีกปัจจัยคือภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ที่จะหนุนให้กนง.พิจารณาลดดอกเบี้ยได้
ด้านที่สอง "พระเอกตัวเดียว" ที่มองว่าจะหนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้คือ "งบประมาณภาครัฐ" ที่คาดว่าจะผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภา และเบิกจ่ายได้ภายในก.พ.นี้ ซึ่งหวังว่าจะเห็นการเบิกจ่ายการลงทุนมากกว่า 60% เพราะช่วง 3ปีที่ผ่านมาการเบิกจ่ายอยู่ระดับต่ำ และหวังว่าจะเห็นการหนุนการลงทุนในอีอีซีมากขึ้น เพราะเป็นการยกระดับศักยภาพประเทศ เช่นการผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน และเร่งผลักดันโปรเจ็กค์แหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภาให้เกิดขึ้นเร็ว เพราะมองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาว
ด้านที่สาม คือ เศรษฐกิจในภาพรวม ที่ยังมีความเสี่ยงสูง และยังเป็นความกังวล ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ 4% โดยเบื้องต้นคาดเศรษฐกิจไทยโต 3% ปีนี้ จากปี 2562 ที่โต 2.5% แต่อยู่ระหว่างการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ในสิ้นไตรมาสแรกปีนี้
โดยเศรษฐกิจในหลายด้าน สะท้อนความอ่อนแอที่ยังมีอยุู่ ทั้งการลงทุนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ความมั่นใจลงทุนของเอกชนยังไม่เกิด ความมั่นใจของผู้บริโภคต่ำต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะเสมอตัว หรือทรงตัว จากติดลบปีก่อนหน้า ขณะที่แรงขับเคลื่อนในประเทศอ่อนแอ โดยเฉพาะภาคเกษตร ที่ส่งออกเกษตรติดลบ ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ภาคธุรกิจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้การผลิตในประเทศติดลบมาก ดังนั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวลต่อเนื่องในระยะข้างหน้านี้
ค่าเงินบาทไม่ได้กระทบเฉพาะสินค้าเกษตรเท่านั้น แต่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวด้วย จากการแข็งค่าของค่าเงินบาท ที่กระทบต่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยน้อยลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของภาคการท่องเที่ยวของไทย
“ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมาจากหลายปัจจัย จากบาทที่แข็งค่า การปิดโรงงาน จากรายได้ของภาคธุรกิจที่ลด โดยเฉพาะสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่หนี้ครัวเรือนก็เพิ่มต่อเนื่อง เอ็นพีแอลเยอะขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน เครดิตการ์ด ออโต้ขึ้นหมด ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่กังวลว่าจะกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ และการบริโภคในระยะข้างหน้าได้ วันนี้เรามองเศรษฐกิจไทยค่อนข้าง Weak หรืออ่อนแอ ปีนี้มีแฟคเตอร์ที่เป็นด้านลบเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบต่อการบริโภคในประเทศเยอะ ทั้งแนวโน้มน้ำมันขึ้น ภัยแล้ง ปัญหาฝุ่น ไวรัสต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจัยที่ต้องติดตามและเป็นปัจจัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมาก หากไม่มีการแก้ปัญหา”
ด้านที่สี่ ที่ยังเป็นความกังวล คือ คือสถานการณ์ "ค่าเงินบาท" ที่ยังอยู่ในทิศทางที่แข็งค่า โดยเฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ที่เป็นไฮซีซั่นของภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีเงินเข้ามาในประเทศ ทำให้คาดว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าสู่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในไตรมาสแรกปีนี้ และจะทยอยอ่อนค่าลงในช่วงปลายปี 2562 ที่คาดจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์
“ที่ผ่านมา ธปท.พยายามเข้าไปดูแลค่าเงินบาทแล้ว ทั้งเข้าไปช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาท ทั้งออกมาตรการเพื่อให้บาทอ่อน แต่อีกด้านก็ต้องเข้าใจว่าหากธปท.ทำเยอะไป อาจถูกสหรัฐมองว่าแทรกแซง และกีดกัดทางการค้าได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาบาทแข็งไม่ใช่แต่ธปท.ฝ่ายเดียว ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน”