พอกันที #ขออากาศดีคืนมา แถลงการณ์แก้ฝุ่นพิษPM2.5
เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี "พอกันที#ขออากาศดีคืนมา" แก้ฝุ่นพิษPM2.5ติงนโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน แนะกำหนดกฎหมาย เพิ่มพื้นที่สีเขียว เปิดกว้างประชาชนมีส่วนร่วมตรวจวัดมลพิษ ให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ประชาชน
วันนี้ (23 ม.ค.2563) กลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สำนักงานประเทศไทย) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค Friend Zone Climate Strike Thailand Mayday และเครือข่ายสิ่งแวดล้อม
ออกแถลงการณ์ “พอกันที#ขออากาศดีคืนมา” พร้อมมีกิจกรรมเดินรณรงค์ขออากาศดี และส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีนายนภดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นผู้รับมอบหนังสือ
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สำนักงานประเทศไทย) อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่าแม้ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563 ที่ผ่านมาระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงมีมติเห็นชอบให้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต 12 ข้อ
แต่มาตรการดังกล่าวขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่มีฐานข้อมูลที่มาจากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจสอบและสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศจนกว่าจะมีการแก้ไขนั้น ไม่มีฐานข้อมูลรองรับว่าจะตรวจสอบโรงงานประเภทใด จะลดฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นปริมาณเท่าใด และประชาชนจะมีส่วนร่วมในการติดตามการทำงานของภาครัฐได้อย่างไร
การจัดทำฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษPM 2.5 ได้คำนึงถึงมลพิษทางอากาศข้ามจังหวัด หรือข้ามพรมแดน ด้วยหรือไม่ ที่สำคัญมาตรการ 12 นั้นเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องควบคุมตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นตามกฎหมายอยู่เดิมแล้ว
ส่วนมาตรการขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ เอกชน ประชาชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานนั้นจะไม่เกิดขึ้นได้เลยหากไร้ซึ่งแรงจูงใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่แท้จริง เช่น การลดราคาค่าโดยส่วนขนส่งมวลชนทั้งระบบหรือใช้ขนส่งสาธารณะฟรีในวันที่มีวิกฤตฝุ่น ขณะเดียวกันทำการพัฒนาปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อกันอย่างดี มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผลเพื่อรองรับผู้คนจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการลดการใช้รถยนต์
รวมถึงการที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากและเครื่องฟอกอากาศ ได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยให้มากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้าง “clean room” กระจายอยู่ในพื้นที่สาธารณะเพื่อบริการประชาชนที่สัญจรตามทางเท้าในช่วงวิกฤตทางอากาศ
หน่วยงานรัฐจะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจวัดมลพิษทางอากาศ และให้ข้อแนะนำการซื้อและใช้อุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษขนาดเล็กและการตรวจสอบความถูกต้องของอุปกรณ์
นอกจากนั้น เพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 ในเมืองใหญ่ รัฐบาลต้องเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะให้นำพื้นที่จากหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเป็นหน่วยงานกลางเมืองประชาชนไม่ได้ติดต่อเป็นประจำย้ายไปนอกเมืองและสร้างสวนสาธารณะขึ้นแทน
ระยะยาว มีความจำเป็นลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยวทั้งข้าวโพดและอ้อย เนื่องจากผลตอบแทนจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นๆ ซึ่งวิกฤตฝุ่น PM 2.5 นอกจากรับมือเฉพาะหน้าแล้ว ต้องอาศัยการทำงานในระยะยาว คือ ต้องมีกฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PM2.5จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลักในโรงงานอุตสาหกรรม การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเครื่องย้ายมลพิษ กฎหมายว่าด้วยการประเมิลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และการดึงหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้เพื่อจัดการปัญหามลพิษ เป็นต้น
ดังนั้น หากประเทศไทยเริ่มต้นถอดรื้ออุปสรรคเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ถูกต้องก็จะสามารถฝ่าวิกฤตมลพิษทางอากาศนี้ได้ เพื่อสุขภาวะที่ดีและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในสังคมไทย