'กราน-มอนเต้' ปั้นไวน์ไทย ท้าชิงตลาดไวน์โลกเก่า-ใหม่
หากเอ่ยชื่อ “เขาใหญ่” เชื่อว่าติดท็อปลิสต์จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวและพักผ่อนของไทยที่ไปเยือนกันได้บ่อยๆ เพราะอากาศดี เป็นแหล่ง “โอโซน” ขนาดใหญ่ติดท็อป 10 ของโลก เหมาะให้หลีกหนีฝุ่นพิษ PM2.5 ในช่วงนี้
ทว่า เขาใหญ่เต็มไปด้วย “แลนด์มาร์ค” มากมาย ทั้งอุทยานแห่งชาติ น้ำตก วัดวาอาราม เขื่อน ฟาร์ม และไร่องุ่นฯ ซึ่งอย่างหลัง หนึ่งในไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดียกให้ “กราน-มอนเต้” (GranMonte) ไร่องุ่นและแหล่งผลิตไวน์(Winery)ที่เริ่มต้นจาก วิสุทธิ์-สกุณา โลหิตนาวี ช่วยกันพัฒนาพื้นที่ 100 ไร่ อโศกวัลเล่ย์ ปลุกองุ่นและรังสรรค์ไวน์ไทยแท้มา 20 ปี
ปัจจุบันทั้งคู่ยังคงดูแลงานในไร่ แต่ขึ้นชื่อว่า “ธุรกิจครอบครัว” การผ่องถ่ายหรือเปิดทางให้ “ทายาท” เข้ามาบริหารมีบทบาทมากขึ้น โดยบุตรสาว 2 คน ทั้ง วิสุตา (นิกกี้)-สุวิสุทธิ์ (มีมี่) โลหิตนาวี เข้ามาสานต่องานเต็มตัว แบ่งหน้าที่กันชัดตามความรู้ความสามารถและความถนัด
“นิกกี้ดูแลการปลูก การทำไวน์ทั้งหมด ส่วนมีมี่ จะดูแลงานด้านการตลาด การขาย และการประชาสัมพันธ์” วิสุตา เล่าบทบาทการทำงาน โดยตัวเธอขันอาสามาดูแลธุรกิจตั้งแต่ปลายปี 2551นำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาเกี่ยวกับการปลูกองุ่น ผลิตไวน์มายกเครื่องธุรกิจครอบครัว
ทันทีที่ทำงาน ไม่มีโจทย์ใหญ่จากพ่อแม่ว่าต้องทำอะไร เพราะรู้อยู่แล้วจากการคลุกคลีกับงานในไร่มาตลอด ทุกอย่างจึงอยู่ในสายเลือด จึงให้โจทย์ตัวเองจะกลับมาเปลี่ยนโฉมหน้าไวน์ของกราน-มอนเต้ รีแบรนด์ไวน์ที่มีหลากหลายสไตล์ ยกระดับคุณภาพไวน์ ควบคู่ธุรกิจครอบครัว องุ่นที่ปลูก รวมถึงไวน์ในประเทศไทยด้วย
“เราอยากทำไวน์ที่ดีที่สุด ต้องการเปลี่ยนความคิดผู้บริโภคที่ไม่เชื่อว่า ประเทศไทยสามารถปลูกองุ่น และทำไวน์ได้” ความมุ่งมั่นดังกล่าว ทำให้ปีแรกที่เข้ามาดูแลธุรกิจครอบครัว เริ่มบันไดของความสำเร็จ ส่วนหนึ่งยกความโชคดีให้กับพ่อแม่ ผู้วางรากฐานกราน-มอนต้มาก่อน ขณะที่การใช้ชีวิตในไร่ ทำให้เข้าใจการเพาะปลูกองุ่น การเจริญเติบโตว่าเป็นอย่างไร เป็นแต้มต่อเอื้อให้การทำงานง่ายขึ้น
คุณสมบัติหนึ่งของ “วิสุตา” ที่มุ่งทำไวน์ที่ดีที่สุด คือตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกองุ่นและทำไวน์คนแรกของเมืองไทย ซึ่งเสมือนเป็นทั้ง “แม่ครัว” ที่ปรุงอาหารแต่เธอปรุงไวน์ และยังควบคุมการผลิตทุกอย่างด้วยตนเอง
“ไม่ใช่ไวน์เมกเกอร์ทุกคนที่จะมีโอกาสทำไวน์ในแบบที่ตัวเองชอบ เพราะส่วนใหญ่ต้องทำตามการตลาด” ทั้งนี้ ภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับกราน-มอนเต้ คือมีการตั้งโรงหมักกลั่นไวน์เป็นของตัวเอง จากจ้างผลิต ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้น การใช้แบรนด์ โลโก้ แบ่งประเภทสินค้า ปัจจุบันมีไวน์ทำตลาดทั้งสิ้น 13 รายการ เช่น Syrah Cremant Sakuna Viognier เป็นต้น ราคาขายปลีกตั้งแต่ 890-4,800 บาท
ปัจจุบันกราน-มอนเต้ มีกำลังการผลิตไวน์ 100,000 ขวดต่อปี แต่แผนระยาว 5 ปี ต้องการเพิ่มกำลังผลิตเป็น 300,000 ขวดต่อปี เพื่อรองรับความต้องการของตลาดต่างประเทศ หลายประเทศในยุโรปชื่นชอบไวน์ไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ไวน์ไทย ถือเป็นหนึ่งใน ไวน์ ละติจูดใหม่ (New latitude) ที่มาแรง จากไวน์ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รับรู้ตลาดคือไวน์โลกเก่า (Old world) เช่น จากฝรั่งเศส อิตาลี สเปนฯ และไวน์โลกใหม่ (New World ) เช่น จากออสเตรเลีย เม็กซิโก ทำให้วางแผนพัฒนาพื้นที่ 100 ไร่ บริเวณเขาใหญ่ เพื่อปลูกองุ่น โดยใช้งบลงทุนเฉลี่ย 1.5 แสนบาทต่อไร่ หรือคิดเป็น 15 ล้านบาท โดย 3 ปีแรกจะสามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลิตได้ 20% และ 100% ในปีที่ 6
“ไวน์ไทย เป็นไวน์ละติจูดใหม่ และเป็นสิ่งใหม่มากในวงการไวน์ แต่ตลาดให้ความสนใจองุ่นที่ปลูกในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นเขตร้อน นักเขียนเรื่องไวน์กำลังฮือฮา จากเมื่อก่อนไวน์ไทยในสายตาโลกยังไม่ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพมากนัก ประกอบกับที่ผ่านมามีการทำไวน์โอท็อป ซึ่งนำองุ่นรับประทานมาทำไวน์ การบรรจุขวดยังไม่ดี ส่งผลต่อการเก็บรักษา เมื่อดื่มจะได้รับประสบการณ์ไม่ดี แต่ 5-6 ปีที่ผ่านมาไวน์ไทยพัฒนามากขึ้น อย่างกราน-มอนเต้ ทำไวน์จนได้รับรางวัลเหรียญเงิน เหรียญทองจากเวทีระดับโลกการันตี”
ปัจจุบันกราน-มอนเต้ ส่งออกไวน์ไปยังตลาดต่างประเทศ 20-25% การเพิ่มผลผลิตเป็น 300,000 ขวด จะช่วยผลักดันการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของการทำตลาดไวน์ในไทย คือขีดความสามารถการแข่งขันของไวน์ไทยแท้ 100% (ใช้องุ่นที่ปลูกในไทยเพื่อผลิต)คือภาษีสรรพสามิตที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ไวน์ต่างประเทศบางรายการได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากนโยบายการค้าเสรี (FTA) อีกทั้งผู้เล่นในตลาดที่เป็นไวน์ไทยจริงๆมีน้อยเพียง 2-3 รายเท่านั้น และมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันราว 500,000 ขวดต่อปี หรือต่ำกว่า 5% ของตลาดไวน์
นอกจากขยายธุรกิจไวน์ ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร และท่องเที่ยวเกษตรเชิงไวน์ (Oneo tourism) ด้วยการจัดงาน “GranMonte Sparkling Harvest Festival 2020” ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภคเข้าใจการปลูกองุ่นและทำไวน์มากขึ้น ล่าสุดการจัดงานช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติร่วมกิจกรรมจำนวนมาก