'ปตท.' เล็งขออนุญาตส่งออก 'แอลพีจี' ส่วนเกินจากโรงแยกก๊าซ
เผย ปตท.เล็งขออนุญาตส่งออกแอลพีจี ส่วนเกินของโรงแยกก๊าซฯ หลังรัฐสั่งเบรกตั้งแต่ปี61 ขณะที่ สยามแก๊สฯ ยอมถอยลดนำเข้าแอลพีจี หันซื้อ ปตท.แทน หลังสร้างคลังรองรับเสร็จไม่ทันปี63
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาแข่งขันนำเข้า LPG ที่กระทรวงพลังงาน ได้ประกาศลอยตัวราคาขายปลีก LPG ในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2560 เป็นต้นไป ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลเลิกคุมราคา LPGตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การผลิต นำเข้า และจำหน่าย จนนำไปสู่การนำเข้า LPG ของบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP ประเดิมนำเข้าเป็นรายที่สองของประเทศ
อย่างไรก็ตามขณะนี้ภาครัฐเตรียมทบทวนนโยบายใหม่ หลังพบว่า ในช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค.2562 ทาง สยามแก๊สฯ ได้เริ่มหยุดการนำเข้า LPG และกลับมาแจ้งแผนนำเข้า LPG ต่อกรมธุรกิจพลังงาน ในปริมาณนำเข้าลดลง เหลืออยู่ที่ 3,000 ตันต่อเดือน ในช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. นี้ จากเดิมเคยนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศสูงถึง 44,000 ตันต่อเดือน และล่าสุด ทางสยามแก๊สฯ ได้หันไปจัดซื้อก๊าซ LPG จาก ปตท.แทน
ประกอบกับ ทางสยามแก๊สฯ ยังไม่สามารถดำเนินการจัดสร้างคลังจัดเก็บ LPG ของตัวเองเสร็จได้ทันกำหนดภายในปี 2563 ตามที่กรมธุรกิจฯพลังงานกำหนด
“กรมธุรกิจฯ คงไม่สามารถผ่อนผันขยายก่อสร้างท่าเรือและคลังเก็บ LPG ให้กับสยามแก๊สฯได้ เพราะกรมฯอาจจะถูกผู้ค้ารายอื่นร้องเรียนว่าไม่เป็นธรรมได้ ขณะที่สยามแก๊สฯเองก็ยังได้แจ้งเหตุผลความล่าช้าในการก่อสร้างคลังและไม่ได้ยื่นเรื่องขอขยายกระยะเวลาดำเนินการแต่อย่างใด อีกทั้ง ทางกรมฯ ได้พิจารณาในเบื้องต้นแล้วว่า การก่อสร้างคลังดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการเสร็จทันในปีนี้สยามแก๊สฯจึงหมดสิทธิ์นำเข้า LPG ลงหลังครบกำหนดในปี 63”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าภาครัฐจะมีการหารือถึงข้อเสนอของ ปตท.ที่มีแผนยื่นขออนุญาตผ่อนผันส่งออก LPG ที่เป็นกำลังผลิตส่วนเกินของโรงแยกฯ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน จากก่อนหน้านี้ ภาครัฐไม่อนุญาตให้มีการส่งออกตั้งแต่ปี 2561 เพื่อป้องกันการขาดแคลน LPG ในประเทศ
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานฯ จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาทบทวนแนวทางเปิดเสรีนำเข้า LPG ให้สอดรับกับสถานการณ์ธุรกิจในปัจจุบัน โดยจากข้อมูลในปี 2562 พบว่า LPG ในภาคครัวเรือน มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลง 1.8% จากปีก่อนภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณการใช้ อยู่ที่ 1.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลง 3.9% จากปีก่อนส่วน LPG ภาคปิโตรเคมีในปี2562 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 7.4 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้น 7.9% จากปีก่อน