“โฮมสคูล” ทางเลือกการศึกษา ความสำเร็จ นอกรั้วโรงเรียน
โรงเรียนทางเลือกและการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ โฮมสคูล เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพ่อแม่ และเด็ก ซึ่งเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในเมืองไทย แม้จะมีความอิสระในการเรียนรู้ แต่อีกด้านก็ต้องอาศัยความมีวินัยและส่วนร่วมของครอบครัว
แปม - ณราดา ดิษยบุตร วัย 19 ปี เป็นหนึ่งในเด็กที่ตัดสินใจก้าวออกจากระบบโรงเรียน สู่การจัดการศึกษาแบบ โฮมสคูล ภายใต้การจดทะเบียนกับ “โครงการบ้านเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ” ปัจจุบัน แปมศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ กับดีกรีนักกีฬาปีนผาทีมชาติไทย ควบคู่กับการเรียนพรีดีกรี คณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.รามคำแหง รวมถึงเป็นเจ้าของหนังสือ “แผ่นดินสะท้าน หัวใจสะเทือน” ผลงานจากการจดบันทึกเมื่อครั้งไปเนปาลหลังแผ่นดินไหวปี 2558 กับครอบครัว
แปม เล่าว่า ก่อนที่จะออกมาทำโฮมสคูล ตนเรียนที่โรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกตั้งแต่ประถมฯ จนถึง ม.1 กระทั่งคุณแม่ถามว่าอยากเรียนแบบโฮมสคูลหรือไม่ ตอนนั้นไม่เข้าใจว่าคืออะไร รู้แค่ว่ามันอิสระจากโรงเรียน ไม่ต้องไปโรงเรียน ด้วยความที่ชั้นประถมฯ จะเน้นกิจกรรมเยอะเพราะเป็นโรงเรียนทางเลือก แต่พอมามัธยมฯ ต้องเน้นฟังครูสอนอย่างเดียว ไม่ค่อยมีกิจกรรม ทำให้เกรดไม่ค่อยดีเท่าที่ควร
“ตอนนั้นเพื่อนเริ่มไปเรียนพิเศษ วางแผนจะต่อสายศิลป์หรือสายวิทย์ เรารู้สึกว่าเพื่อนไปไกล แต่เรายังไม่รู้เป้าหมายตัวเอง จึงรู้สึกว่ากระบวนการเรียนรู้แบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับเรา รู้สึกอยากเก่งมากกว่านี้ คิดว่าจะออกดีไหม แต่เสียดายเพื่อน เรื่องเพื่อนสำคัญที่หนึ่งในตอนนั้น เพราะเราไม่อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากเรียนคนเดียว แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจออกมา”
- อิสระที่มาพร้อมความพยายาม
แปม อธิบายว่า ช่วง 2 ปีแรกยากมาก ร้องไห้บ่อยเพราะอยากกลับไปโรงเรียน แต่เรารู้แค่ว่าทางนี้น่าจะเหมาะกับเราแม้จะยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่รู้สึกมีเป้าหมายมากขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ความพยายาม ต้องอดทน ครอบครัวเรา 2 ปีแรกล้มลุกคลุกคลานกันมาก เพราะทุกคนใหม่หมดกับเรื่องนี้ ทั้งการจัดตาราง เปลี่ยนระบบการเรียนรู้ ช่วงแรกพ่อแม่จะพาไปพิพิธภัณฑ์ ค่อยๆ เปลี่ยนระบบ พอเริ่มอยู่ตัว รู้แล้วว่าอยากไปทางไหนก็จะจัดตารางเรียนได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ การเรียนแบบ โฮมสคูล ต้องจดทะเบียนกับเขต , ศูนย์การเรียนรู้ หรือโรงเรียนที่เปิดโครงการ โดยการเรียนจะแบ่งเป็น 2 เทอม เทอมละ 6 เดือน ซึ่งจะมีการประเมินผลจากโครงการและรายงานที่ทำแต่ละเทอมว่าเรียนอะไรบ้าง ต้องนำเสนอให้คณะกรรมการจากโรงเรียนฟัง และเปิดให้ซักถามว่ารู้จริงหรือไม่ และอีกส่วนหนึ่งคือให้พ่อแม่ประเมิน
“โฮมสคูล เหมาะกับคนที่ต้องการค้นหาตัวเองและรู้ว่าอยากจะทำอะไร ชอบไปทางไหน ช่วยให้เราไปถึงตรงนั้นได้ง่ายขึ้น เพราะทุกเทอมต้องเขียนรายงานสิ่งที่เรียน ว่าเรียนอะไรบ้าง เรียนคณิตฯ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ถึงไหน ถ่ายรูป ทำเป็นรายงานส่ง โดยปลายปีจะจัดเป็นเวทีใหญ่ มีกรรมการในโรงเรียนรุ่งอรุณที่สอนในระบบปกติมาประเมินด้วย ซึ่งพอจบ ม. 6 จะได้ใบ ปพ. เหมือนโรงเรียนปกติ เอาเกรดยื่นเหมือนเด็กทั่วไป แค่ระบบประเมินไม่เหมือนกัน แต่ปลายทางถ้าจะเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถเข้าได้ เช่น หากใครอยากเป็นหมอ แนะนำว่าต้องรู้ตัวตั้งแต่จะออกมาทำโฮมสคูล ยิ่งรู้เร็วเท่าไหร่ก็จะมีเวลาไปโฟกัสตรงนั้น และสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายกว่าคนที่อยู่ในระบบ เพราะมีเวลาทั้งวันในการติวเพื่อที่จะสอบเข้า เหมือนเราออกมาเพื่อเดินตามเส้นทางที่เราตั้งเป้าหมายไว้”
แม้ในช่วงแรกที่ออกมา แปมจะยังไม่กล้าบอกใครว่าเรียนโฮมสคูล เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เห็นผลลัพธ์ชัดเจน แต่จากการที่ได้เขียนหนังสือตอนไปเนปาลขณะอยู่ ม. 4 ได้ค้นหาตัวเอง ได้เรียนพรีดีกรีของราม ทำให้มีเป้าหมายมากขึ้น และเห็นข้อดีของการก้าวออกมาจากรั้วโรงเรียน
“เราไม่รู้ว่าดีกว่าในโรงเรียนหรือเปล่า แต่มันดีสำหรับเรา ทำให้ค้นหาตัวเองได้ และคิดว่าถ้าเราไม่ได้เรียนโฮมสคูล ตอนนี้ก็ไม่น่าจะอยู่ในจุดนี้ ก็น่าจะยังงมอะไรสักอย่างอยู่ หากย้อนเวลากลับไปได้ ก็ยังยืนยันว่าจะออกมาเรียนโฮมสคูลแน่นอน อย่างไรก็ตาม โฮมสคูลอาจไม่เหมาะ กับคนที่ยังไม่รู้ตัวเองว่าอยากทำอะไร พ่อแม่ต้องมีเวลาแนะนำ วางแผนให้ไปในทิศทางที่ดี ครอบครัวต้องพร้อม”
- อยากสำเร็จ ต้องมีวินัย
แปม กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายคนชอบถามว่า “อย่างนี้ก็ดีสิ ตื่นสายได้ ไม่ต้องเรียน” ซึ่งเขารู้ได้อย่างไรว่าไม่เรียน นี่เป็นคำถามแรกๆ ที่เราไม่ชอบ เพราะเราพยามทำทุกอย่างให้ตัวเองรู้สึกว่า “ได้เรียน” ดังนั้น เราจึงเก็บคำถามให้เป็นแรงผลักดันให้เราตื่นเช้ากว่าไปโรงเรียน และอ่านหนังสือเยอะกว่า
แปม ใช้เวลา 5 ปี ในการเรียนแบบโฮมสคูล จนปัจจุบันก้าวเข้าสู่การเป็นนักศึกษาปี 1 คณะวารสารฯ มธ. จากโควตานักกีฬา (ปีนผา) และผลงานการเขียนหนังสือ แปมเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักกีฬาปีนผาว่า เริ่มเล่นกีฬาปีนผาตั้งแต่ ม.1 ขณะที่เรียนในโรงเรียนเพลินพัฒนา เนื่องจากเป็นวิชาบังคับ พอปีนก็รู้สึกว่าสนุกดี และรู้สึกว่าทำได้ดีกว่าวิชาคณิตฯ จึงเริ่มเข้าชมรมและโค้ชที่โรงเรียนพาไปแข่งรายการต่างๆ รู้ตัวอีกทีก็จริงจังแล้ว เริ่มเป็นนักกีฬา มีโปรแกรมซ้อม และเราไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถเดินตามความฝัน จนสามารถเข้าคณะที่อยากเรียนได้ในปัจจุบัน
“พอยิ่งได้เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย ก็ยิ่งรู้สึกว่าเราต้องการอะไร รู้สึกดีที่เราไม่ได้เรียนไปวันๆ ตามตาราง เราจะเรียนเพื่อไปทำงาน มีความรู้ด้านนี้มากขึ้น และต่อยอดต่อไป ตอนนี้อยากทำงานด้านสังคม แต่ยังไม่อยากทิ้งการเขียน จึงเลือกเรียนวารสารฯ แปมคิดว่าการเขียนช่วยได้หลายอย่าง ยังเป็นสื่อที่ไม่จำเป็นที่ต้องอยู่ในหนังสือหรือกระดาษ แต่มันสามารถเปลี่ยนแพลตฟอร์มได้หมด แค่เรามีคอนเทนต์”
- ไปไม่ไหว ไม่ใช่คนแพ้
“การออกมาทำโฮมสคูล ต้องแน่ใจว่าออกมาค้นหาตัวเองจริง ไม่ได้ออกเพราะขี้เกียจ แต่ไม่จำเป็นว่าเราออกมาแล้วจะกลับเข้าไปไม่ได้ ทุกคนจะคิดว่าหากออกมาทำโฮมสคูลแล้วไม่เวิร์ค การกลับเข้าไปเรียนในระบบจะกลายเป็นคนแพ้ แต่เราคิดว่าถ้าออกมาแล้วมันไม่เวิร์ค ก็จะดันไปเพื่ออะไร สู้เรากลับไป อย่างน้อยเรารู้ว่าเรากลับเข้าไปทำอะไร นี่คือประโยคที่แม่พูดและทำให้เรากล้าออกมามากขึ้น”
“ตอนเราอยู่โรงเรียนเราไม่รู้ว่าเราชอบอะไร แต่พอออกมารู้สึกว่าคิดมากขึ้น โตมากขึ้น พอเข้ามหาวิทยาลัยเรามีชุดความคิดที่โตมากขึ้นแล้ว พร้อมที่จะตั้งเป้าหมายและรับการเรียนรู้ เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เราชัดเจนกับตัวเอง และแปมเชื่อว่าน้องๆ ที่ออกมา จะอยากเก่งด้วยตัวเองแน่นอน” แปม กล่าวทิ้งท้าย