กรมชลฯวอนปชช.ใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างยั่งยืน
กรมชลฯ ออกโรงเตือนสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ขอประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างยั่งยืน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(29 ม.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 44,602 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 20,807 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,490 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,794 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/2563 ปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่นๆ สนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนจัดสรรน้ำรวม 4,000 ล้าน ลบ.ม.(เป็นน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3,500 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง 500 ล้าน ลบ.ม.) ผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/2563 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึง ปัจจุบัน(29 ม.ค. 63) ของทั้งประเทศ จัดสรรน้ำไปแล้ว 7,947 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำใช้การได้ที่จัดสรร เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา จัดสรรน้ำไปแล้ว 2,325 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของปริมาณน้ำใช้การได้ที่จัดสรร ปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้(ปี 2562) มีน้อยกว่าปีที่แล้วมาก(ปี 2561มีน้ำต้นทุนที่สามารถจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี61/62ทั้งประเทศ ประมาณ 23,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม.) จึงมีเพียงพอสำหรับใช้อุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศเป็นหลัก และปลูกพืชต่อเนื่องบางส่วนเท่านั้น
สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 22 ม.ค. 63) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 3.55 ล้านไร่ โดยรวมเกินแผนฯแล้วเล็กน้อย(คิดเป็นร้อยละ 125 ของแผนฯ) แยกเป็นข้าวนาปรัง 3.27 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 142 ของแผนฯ และพืชไร่-พืชผัก 0.28 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 54 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.87 ล้านไร่(เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.26 ล้านไร่) ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก
กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ให้พร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังได้มีการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ รวมถึงตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบและตระหนักถึงคุณค่าของน้ำอย่างต่อเนื่อง