‘สทนช.’เตรียมเคาะแผน จัดการ - ใช้ประโยชน์ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
สทนช.ขีดเส้นผลศึกษาจัดลำดับความเร่งด่วนพัฒนา 9 แผนหลักจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาแล้วเสร็จภายใน ก.พ.นี้ เตรียมต่อยอดสู่แผนแม่บทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทำแผนปฏิบัติการรายโครงการให้การบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาเกิดประโยชน์สูงสุด
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทนช.ได้ดำเนินโครงการศึกษาจัดลำดับความสำคัญ 9 แผนงานบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 2.โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย 3.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่สาม 4.โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 6.โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 8.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และ 9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง
ปัจจุบันผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จตามแผน ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ก.พ. นี้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการนำผลการศึกษาไปใช้เป็นแผนแม่บทให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นแนวทางและแผนปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้การตัดสินใจดำเนินโครงการเป็นไปอย่างรอบคอบถูกต้องตามหลักวิชาการ นำไปสู่การแก้ปัญหาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติของวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการน้ำ
โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแผนงานลำดับที่ 7 จากทั้งสิ้น 9 แผน โดยปัจจุบันได้มีการดำเนินการตามแผน (road map) ในปี 2562 ได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดคลองระบายน้ำหลาก พร้อมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA การเวนคืนที่ดินและจัดเตรียมพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ ปี 2562 -2566 กรอบวงเงินรวมประมาณ 21,000 ล้านบาท
ประกอบด้วย 1. ขุดคลองระบายน้ำสายใหม่จากบริเวณ อ.บางบาล – อ.บางไทรและอาคารประกอบตามแนวคลอง ระยะทาง 22.4 กม. ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที 2.ก่อสร้างถนนบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง รวมความกว้างเขตคลอง 245 ม. 3.ประตูระบายน้ำในลำน้ำสาขา 2 แห่ง และปลายคลองขุดใหม่ 1 แห่ง และ 4.ก่อสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะส่งให้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสามารถรองรับอัตราการระบายเพิ่มขึ้นได้รวม 2,000 ลบ.ม./วินาที ที่จะช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจ โบราณสถานสำคัญ และพื้นที่ชุมชนเมืองพระนครศรีอยุธยาได้