หนี ‘COVID-19’ ไปทัวร์อวกาศ
‘หนีไวรัสโคโรน่า’ ไปทัวร์อวกาศเผื่อจะเป็นทางรอดติดเชื้อไวรัสมฤตยูชนิดนี้ได้ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตและยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่หยุด
ติดตามข่าวสารบ้านเมืองวันนี้มีแต่เรื่องชวนหวาดวิตกจากไวรัสโคโรน่าต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่นของจีนที่กำลังระบาดไปทั่ว ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งไม่หยุด จนองค์การอนามัยโลกต้องยกระดับประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศ ครั้นจะหนีข่าวเครียดไปเที่ยวสงบจิตสงบใจ การเดินทางก็เป็นตัวแพร่กระจายเชื้อ ดูเหมือนว่าความเครียดนี้จะไม่มีทางออก จะหนีไปเที่ยวไหนก็ไม่ได้ หรือว่าเราควรไปทัวร์อวกาศ?
เมื่อไม่กี่วันก่อนยูซากุ มาเอซาวะ มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น วัย 44 ปีประกาศว่า กำลังหาสาวรู้ใจ 1 คนร่วมคณะผู้โดยสารชุดแรกไปท่องรอบดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศที่สร้างโดยบริษัทสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ ภายในปี 2566 หรือหลังจากนั้น ซึ่งจะเป็นการเดินทางไปดวงจันทร์ของมนุษย์ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2515 แต่ล่าสุดมหาเศรษฐีรายนี้ทวีตข้อความเมื่อวันพฤหัสบดี (30 ม.ค.) ว่าขอล้มเลิกแผนการ “ด้วยเหตุผลส่วนตัว”
แม้จะเลิกแผนไปแต่ข่าวประกาศหาเพื่อนร่วมทางแบบนี้ จุดประกายให้ผู้คนได้ทราบว่า การไปทัวร์อวกาศไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป
การท่องเที่ยวแบบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้ทำงานในหน่วยงานรัฐบาลหรือโครงการอวกาศ มีโอกาสจ่ายเงินซื้อทัวร์ไปพ้นโลกใบนี้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ
เดนนิส ติโต มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนแรก เมื่อปี 2544 นั่งกระสวยอวกาศโซยุส ทีเอ็ม-32 ของรัสเซียพร้อมกับนักบินอวกาศชาวรัสเซียอีก 2 คน ไปสำราญใจบนนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) สนนราคาทัวร์ก็ไม่แพงเท่าไหร่ แค่ 20 ล้านดอลลาร์ (600 ล้านบาท) เท่านั้น!!!
ติโตใช้เวลาอยู่ในอวกาศนาน 7 วัน 22 ชั่วโมง กับอีก 4 นาที โดยได้โคจรรอบโลก 28 รอบ ก่อนจะกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2544
จริงๆ แล้วยังมีอีก 6 คนที่แสดงความจำนงอยากไปทัวร์สุดพิเศษท่องอวกาศ แต่ไม่มีใครได้ไปเลยตั้งแต่ปี 2552 จนกระทั่งในปี 2562 การท่องเที่ยวอวกาศเปลี่ยนจากแนวคิดล้ำยุคมาเป็นข้อเสนอทางธุรกิจแบบจริงๆ จังๆ ทั้งเวอร์จินกาแล็กติก, สเปซเอ็กซ์ และโบอิง ต่างฝันอยากเป็นผู้นำธุรกิจทำเงินกันทั้งสิ้น
เวอร์จิน กาแล็กติก ของริชารด์ แบรนสัน อภิมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ เป็นบริษัทจดทะเบียนในฐานะบริษัทอวกาศแห่งแรกในเดือน ต.ค. พร้อมประกาศว่าจะเป็นบริษัทท่องเที่ยวอวกาศเพื่อโลก ขายทัวร์ให้ผู้ที่ต้องการเป็นนักบินอวกาศได้แล้ว 603 ที่นั่ง และยังมีว่าที่ลูกค้าสนใจติดต่อเข้ามาอีกหลายพันคน
ชามาธ ปฤหพิธิยา ประธานโซเชียล แคปิตอล เฮโดโซเฟีย ที่ควบรวมกิจการกับเวอร์จิน กาแล็กติก คาดว่า เวอร์จิน จะเริ่มปฏิบัติการเชิงพาณิชย์ได้ในปีนี้และทำกำไรภายในปี 2564 แต่สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกคือต้องพาแบรนสันไปอวกาศให้ได้ก่อนวันเกิดครบรอบ 70 ปีในเดือน ก.ค. ที่จอร์จ ไวท์ไซด์ ซีอีโอเวอร์จิน กาแล็กติก เผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า นั่นจะต้องเป็นช่วงเวลาที่ประทับใจมาก
การแข่งขันดึงลูกค้าให้ยอมเสียเงินไปทัวร์นอกโลกร้อนแรงขึ้นหลังจากองค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐ (นาซา) ประกาศเมื่อเดือน มิ.ย.62 ว่าอนุญาตให้นักท่องเที่ยวนั่งยานอวกาศสหรัฐไปชมไอเอสเอสได้ เสียค่าธรรมเนียมคืนละ 35,000 ดอลลาร์ (1,050,000 บาท) อยู่ได้นานถึง 30 วัน โดยบริษัทเอกชนจะต้องรับผิดชอบผู้โดยสารและลูกเรือ ทั้งการตรวจร่างกายและฝึกอบรมตามข้อกำหนดการบินอวกาศ
ขณะนี้นาซาว่าจ้างสองบริษัทให้ดูแลบริการทัวร์ไอเอสเอส ได้แก่ บริษัทสเปซเอ็กซ์ของของอีลอน มัสก์ ที่จะเดินทางโดยกระสวยอวกาศ “ดรากอน” และโบอิงที่กำลังสร้างยาน “สตาร์ไลเนอร์”
สถานีโทรทัศน์บีบีซีรายงานเป็นไปได้ว่า บริษัทเหล่านี้ตั้งใจเก็บค่าโดยสารจากลูกค้าอัตราเดียวกับที่เก็บจากนักบินนาซา เกือบ 60 ล้านดอลลาร์ (1,800 ล้านดอลลาร์) ต่อเที่ยว
ขณะเดียวกัน บลูออริจินของเจฟฟ์ เบซอส ก็เล็งร่วมวงด้วยเหมือนกัน บริษัทเพิ่งทดสอบจรวดนิวเชฟเพิร์ดครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. และหวังนำผู้โดยสารไปเที่ยวห้วงอวกาศได้ในปีนี้
เว็บไซต์ marketstudyreport.com ประเมินว่าตลาดท่องเที่ยวอวกาศจะมีมูลค่าถึง 1.18 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2567
ความคืบหน้าตอนนี้หากพิจารณาผลงานของ 3 บริษัท บลูออริจินพยายามสร้างระบบลงจอดบนดวงจันทร์ ตอบรับเป้าหมายรัฐบาลสหรัฐที่จะนำมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกภายในปี 2567
ด้านสเปซเอ็กซ์ก็ไม่น้อยหน้าให้ความสำคัญกับการไปดวงจันทร์เช่นกัน เดือน ก.ย.ที่ผ่านมาบริษัทเปิดตัวสตาร์ชิปเอ็มเค1 จรวดต้นแบบนำกลับมาใช้ซ้ำได้ สามารถรองรับผู้โดยสารไปดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือที่อื่นๆ ในอวกาศ รวมทั้งโคจรรอบโลกได้มากถึง 100 คน
ส่วนสัญญาที่นาซาทำกับโบอิงก็เปิดช่องให้โบอิงขายทัวร์อวกาศให้นักท่องเที่ยวได้ เดือน ต.ค.โบอิงประกาศแผนลงทุน 20 ล้านดอลลาร์ในเวอร์จิน กาแล็กติกเพื่อช่วยพัฒนาเที่ยวบินอวกาศในเชิงพาณิชย์
ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ เหล่านี้ช่วยโหมกระพือความหวังว่า การท่องเที่ยวอวกาศน่าจะเริ่มได้เสียที
แอสการ์เดีย รัฐชาติในอวกาศสำรวจความคิดเห็นพบว่า ชาวอังกฤษ 29% หรือราว 14.4 ล้านคนยินดีจ่ายเงินซื้อทัวร์อวกาศ หากเทคโนโลยีพร้อม อีก18% เศษหรือราว 9 ล้านคนพร้อมออมเงินเพื่อให้ได้เป็นนักบินอวกาศสักครั้ง
“คงน่าตื่นเต้นมากเลยนะคะ ที่มีคนได้ไปอวกาศถ้าสภาพร่างกายพร้อม” ทาเมลา แมเซียล จากศูนย์อวกาศแห่งชาติอังกฤษในเลสเตอร์กล่าว แต่เมื่อดูจากราคาค่าบริการแล้วร่างกายแข็งแรงอย่างเดียวคงไม่พอ คุณต้องมีสตางค์ด้วย
สำนักข่าวบีทีนิวส์ของอังกฤษมองว่า ต่อไปราคาค่าทัวร์ห้วงอวกาศน่าจะถูกลงเพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น การบริหารจัดการใช้ต้นทุนน้อยลง แต่อย่างไรเสียก็คงไม่ถูกถึงขนาดเป็นคู่แข่งกับเครื่องบินราคาประหยัดไปได้
แน่นอนว่าทัวร์อวกาศอาจไม่เกิดขึ้นภายในวันสองวันนี้ที่ไวรัสโคโรน่ากำลังระบาดหนัก แต่ใครจะรับรองได้ว่าในอนาคตจะไม่มีไวรัสร้ายระบาดอีก ตอนนี้ใครมีเงินก็รีบเก็บออมกันไว้ก่อน เกิดเหตุโรคระบาดคราวหน้าจะได้หนีไปอวกาศทัน
------------------------
ที่มา
https://www.theweek.co.uk/the-week-unwrapped/105229/space-tourism-how-far-has-the-industry-come