สธ.เผยประกาศWHO ไม่กระทบไทย

สธ.เผยประกาศWHO ไม่กระทบไทย

สธ.เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังคนไทยกลับจากอู่ฮั่น พบมีไข้แยกตัวเข้าระบบรักษาทันที ฮูประกาศภาวะฉุกเฉินไม่กระทบไทย เผยผู้ป่วยยืนยันอีก 12 ราย อาการดี รอผลแล็ปเป็นลบซ้ำ ก่อนอนุญาตกลับบ้าน


เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 1 ก.พ.2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019ว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019ที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล(รพ.)จำนวน 12 ราย อาการดีขึ้น รอเพียงการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์(ห้องแล็ป)ซ้ำว่าปลอดเชื้อ จึงจะอนุญาตให้ออกจากรพ.ได้
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์ ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 08.00 น. รายงานผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อขณะนี้นอนในโรงพยาบาล 12 ราย กลับบ้านแล้ว 7 ราย รวมสะสม 19 ราย โดยมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 344 ราย คัดกรองจากสนามบิน 39 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 305 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 70 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 274 ราย โดยในวันที่ 31 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายใหม่จำนวน 64 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑสอบสวนโรคจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายวงการเฝ้าระวังออกไปเป็นนักท่องเที่ยวจีนทุกคนจากประเทศจีน และคนไทยที่มีอาชีพเสี่ยงคือทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวจีน
พร้อมดูแลคนไทยจากอู่ฮั่น
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับคนไทยกลับจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมหารือกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการนำคนไทยกลับประเทศ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเตรียมการตั้งแต่ก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ครอบคลุมทั้งเรื่องอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติภารกิจ การประสานงานระหว่างทีมแพทย์ไทยและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
“การเตรียมการจุดคัดกรองเมื่อมาถึงสนามบินในประเทศไทย มีการตรวจคัดกรองผู้โดยสารทุกคนก่อนขึ้นเครื่อง และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย หากพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังจะมีการลำเลียงไปยังโรงพยาบาลที่กำหนดด้วยมาตรฐานการควบคุมโรคสูงสุด แยกเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลส่วนกลุ่มที่ไม่มีอาการป่วยจะติดตามอาการต่อเนื่องจนครบกำหนด 14 วัน อย่างไรก็ตาม จากการที่กระทรวงการต่างประเทศติดตามคนไทยที่นั่น ยังไม่พบว่าคนที่มีอาการป่วย”นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
ประกาศฮูไม่กระทบไทย
ต่อข้อถามว่าการที่องค์การอนามัยโลกหรือฮูประกาศให้สถานการณ์การระบาดของไวรสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวว่า การที่ฮูประกาศเพื่อบริหารจัดการภายในของฮูเอง เพื่อไปช่วยเหลือสนับสนุน จัดเตรียมทรัพยากรสำหรับประเทศที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอนในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการระบาด ส่วนประเทศที่มีความเข้มในการเฝ้าระวังป้องกันโรคอยู่แล้ว ฮูจะไม่เข้าไปยุ่ง ในส่วนของประเทศไทยจึงไม่ได้รับผลใดๆจากการที่ฮูประกาศในเรื่องนี้ เพราะไทยมีมาตรการเข้มข้นมากๆอยู่แล้ว แต่ตราบใดที่ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็ทำให้ไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะฉะนั้นต้องจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ถ้าทำให้ความเสี่ยงลดลงก็จะเป็นเรื่องดี
“เมื่อไหร่ที่เราพบว่าไม่ได้รับความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยหรือได้รับความร่วมมือต่ำ ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงในประเทศเราเพิ่มขึ้นนั้น เชื่อว่าผู้นำประเทศจะมีวิธีจัดการกับความเสี่ยงนี้แตกต่างกันออกไป”นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
ไทยทำตามความเสี่ยงไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้มีความจำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเหมือนเช่นสหรัฐอเมริกาหรือไม่ นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวว่า ทั้งหมดอยู่ที่ว่าไทยวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างไร แล้วจัดการความเสี่ยงอย่างไร ทางสหรัฐฯ คงวิเคราะห์ความเสี่ยงของเขาและจัดการแบบหนึ่ง ถ้ามองว่าการตัดสินใจของเขาครั้งนี้ไม่มีเรื่องอื่นมาปะปน ส่วนของไทยมีความเสี่ยงทั้งด้านสุขภาพ และด้านอื่นๆ ก็ต้องวิเคราะห์ร่วมกัน ด้านสาธารณสุขก็เสนอไป แต่คนอื่นเวลาตัดสินใจจะวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทุกอย่างและตัดสินใจแบบหนึ่งก็ตามนั้น ซึ่งพื้นฐานการตัดสินใจจะไม่ทำเพียงเพราะประเทศนั้น ประเทศนี้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้นี้ แต่ตัดสินใจตามความเสี่ยงของไทยอย่างไร ความเสี่ยงนี้ประเทศไทยรับได้ไหม จัดการได้หรือไม่ หากความเสี่ยงเปลี่ยนไปจะจัดการอย่างไร จะเปลี่ยนท่าทีกับการจัดการกับความเสี่ยงอย่างไร
“จากข้อมูลทุกอย่างที่ไทยเผชิญอยู่ ก็เสนอข้อมูลเหล่านี้ตรงกับคณะผู้บริหารประเทศอยู่แล้ว ทีมผู้บริหารประเทศคงจะตัดสินใจว่าจะจัดการกับความเสี่ยงนี้อย่างไร เรื่องบางเรื่องไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นคนมีอำนาจตัดสินใจจริงๆ คงพิจารณาทุกเรื่องเข้าด้วยกัน และในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน ทีมบริหารตัดสินใจอย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติเพราะอยู่ทีมเดียวกัน”นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
เชื่อมั่นการทำงานเจ้าหน้าที่
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ. กล่าวว่า กรณีที่มีการตรวจพบแท็กซี่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าซึ่งเป็นรายแรกที่เกิดการติดเชื้อภายในประเทศนั้น ต้นมีความเป็นห่วงแต่ยังมั่นใจในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขของประเทศไทย