ร.ร.ผู้สูงอายุ ต.ตำหนักธรรม เสริมพลังสูงวัย สร้างรายได้ชุมชน
ต.ตำหนักธรรม อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ ถือเป็นอีกชุชนหนึ่งที่ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมีผู้สูงอายุ 21.6% ของจำนวนประชากร การขับเคลื่อนเรื่องผู้สูงวัยเริ่มต้นขึ้นในปี 2540 จนปัจจุบัน เกิดโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่ให้ผู้สูงวัย ขับเคลื่อนชุมชน
ตำบลตำหนักธรรม อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ มี 8 หมู่บ้าน ประชากร 3,351 คน กว่า 70% ทำอาชีพเกษตรกร 15% รับราชการ และ 15% ค้าขาย เป็นชุมชนหนึ่งที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ มีผู้สูงอายุ 649 คน คิดเป็น 21.6% ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กันตามลำพัง หรืออาศัยอยู่กับหลาน เหลน เนื่องจากคนวัยทำงาน วัยหนุ่มสาว นิยมเดินไปไปทำงานต่างถิ่น หรือแยกตัวไปสร้างครอบครัว กลายเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยเด็กและผู้สูงวัยเป็นหลัก ขาดสมาชิกที่เป็นหนุ่มสาวที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนชุมชน ผู้สูงอายุมีเพียงรายได้จากเบี้ยยังชีพและลูกหลานให้เล็กน้อยเท่านั้น
- โรงเรียนผู้สูงอายุตำหนักธรรม
การขับเคลื่อนงานการดูแลผู้สูงอายุของตำบลตำหนักธรรม เริ่มขึ้นในปี 2540 โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดแพร่ ร่วมกับ สถานีอนามัยตำหนักธรรมและสถานีอนามัยสะเลียม ชวนผู้สูงอายุรวมกลุ่มเป็น “ชมรมผู้สูงอายุบ้านตำหนักธรรม” ทำกิจกรรมด้านสุขภาพ เกิดกลุ่มฌาปานกิจสงเคราะห์ศพผู้สูงอายุ จัดตั้งกลุ่มอาชีพ “กลุ่มดอกไม้จันทน์” ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการดูและผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
ภาพ : FB โรงเรียนผู้สูงอายุ ตำบลตำหนักธรรม
ปี 2557 หลังจากที่มีการดำเนินการผู้สูงอายุมาระยะหนึ่ง จนเกิดการวมตัวที่เหนียวแน่น นำมาซึ่งการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยรวมกลุ่มผู้สุงอายุเพื่อฝึกอาชีพ ร่วมกับ กลุ่มสตรีในการสานกระเป๋าจากเส้นพลาสติกเพื่อนำไปจำหน่าย หลังจากนั้น ในเดือนเมษายน ปี 2558 มีการก่อตั้งโรงเรียนผู้สุงอายุตำบลตำหนักธรรม ในพื้นที่โรงเรียนบ้านสะเลียมใต้เก่า ภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอาุยตำบลตำหนักธรรม
โดยการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ หน่วยบริการสุขภาพ เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัด รวมไปถึงการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสเริมสุขภาพ (สสส.) ส่งผลให้ผู้สูงอายุตำบลตำหนักธรรมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ภาพ : FB โรงเรียนผู้สูงอายุ ตำบลตำหนักธรรม
- ขับเคลื่อนสังคมโดยสูงวัย
วิยะดา เขื่อนแปด อายุ 44 ปี นักพัฒนาชุมชน อธิบายว่า โรงเรียนผู้สูงอายุตำหนักธรรม มีความแตกต่างจากโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วไป คือ มีเป้าหมายเพื่อสร้างผู้นำผู้สูงอายุ เปิดรับเพียง 50 คน ต่อรุ่น สำหรับรุ่นแรกเริ่มเมื่อปี 2558 ขณะนั้นเรียนสัปดาห์ละ 3 วัน คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ ในช่วงเช้าจัดให้มีการเรียนเชิงวิชาการ เช่น “ภาษาไทย” เน้นการฝึกเป็นวิทยากรชุมชน สามารถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งการเย็บผ้า การทำจักรสานต่างๆ “คณิตศาสตร์” ในการคำนวนบวกลบ คูณหาร “ภาษาอังกฤษ” ฝึกเพื่อรองรับชาวต่างชาติ เป็นต้น เพื่อให้ผู้สูงอายุนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ออกไปฝึกอาชีพให้กับบุคคลภายนอกได้ด้วย ส่วนช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมฝึกอาชีพและสันทนาการ
“ผู้สูงอายุที่เข้ามาต้องเป็นผู้สูงอายุที่เป็นอาสาสมัคร ถูกฝึกจากเราให้ทำทุกอย่างเป็น และออกไปติดตามผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน เป็นผู้นำในชุมชน สามารถสอนอาชีพผู้ที่สนใจได้ และกระจายข่าวสาร โดบเปิดสอนรุ่นละ 2 ปี ปัจจุบันกำลังสอนรุ่นที่ 2 เนื่องจากเมื่อรุ่นแรกจบไป ต้องเว้นช่วงเตรียมความพร้อม คัดเลือกคนเพื่อเรียนรุ่นที่ 2 พร้อมกับปรับให้เรียนเพียงวันพุธ 8.30 – 15.30 น. อย่างไรก็ตามโรงเรียนฯ กลับกลายเป็นแหล่งรวมกลุ่มของผู้สูงวัยในชุมชน และเด็กๆ ในทุกๆ วัน”
วิยะดา อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุ 1 คน จะต้องสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อีก 10 คน และดึงเด็กเข้ามาทำงานร่วมกับผู้สูงอายุ เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ (อสม.น้อย) ตอนนี้มีจำนวน 69 คน อายุน้อยสุดคือ 9 ขวบ รวมถึงฝึกอาชีพให้กับทุกรุ่น ทุกวัย สร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้สูงอายุที่เป็นนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุฯ หมู่บ้านละ 5 คน เพื่อรู้ข่าวภายในหมู่บ้าน ช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยกันเอง
“จากเมื่อก่อนผู้สูงอายุจะนั่งอยู่ข้างหลังเวลามีการประชุมประชาคม ไม่กล้าแสดงออก แต่ตอนนี้ผู้สูงอายุเรากล้าแสดงออกมากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะฝึกรุ่นละเพียง 50 คน แต่สามารถกระทบยอดไปได้ในหลายกลุ่ม นอกจากนี้ ยังเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเด็กและผู้สูงวัย เช่น หากรับงานทำขนมเบเกอรี่มา เด็กก็จะมาสอนให้ผู้สูงอายุต่อเป็นวัฏจักร โรงเรียนผู้สูงอายุ ไม่ใช่ได้รับประโยชน์แค่ผู้สูงอายุ แต่ยังได้วัยเด็ก และวัยกลางคน เข้ามาด้วย กลายเป็นแหล่งสร้างความรู้ สร้างเงิน สร้างอาชีพให้กับชุมชน"
โดยปัจจุบัน มีการเปิดสอนทั้งกระเป๋าด้นมือ ตะกร้าพลาสติก ทำดอกไม้จากถุงพลาสติกและวัสดุจากธรรมชาติ การแปรรูปอาหาร พรมเช็ดเท้า สอนทำการเกษตร เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับผู้ที่มาดูงานและสามารถสั่งให้ส่งทางไปรษณีย์ได้อีกด้วย ทั้งนี้ หากหมู่บ้านไหนต้องการฝึกอาชีพ สามารถรวมกลุ่มกันมาไม่เกิน 20 คน เพื่อให้นักเรียนสูงวัยที่เป็นแกนนำไปสอนอาชีพได้ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง
ถวิล จุวัน อายุ 56 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน รุ่นที่ 1 โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลตำหนักธรรม ซึ่งปัจจุบัน ได้ผันตัวเองมาเป็นวิทยากรสอนงานฝีมือ เล่าว่า ครอบครัวมีอาชีพเกษตรกร อาศัยอยู่กับสามี ส่วนลูก 3 คน แยกย้ายกันไปมีครอบครัว แต่เดิมเมื่อว่างจากการทำนาก็จะอยู่บ้านเฉยๆ จึงสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนผู้สูงอายุ แม้จะมีเรียนวิชาการแต่ก็ไม่เครียดมาก ตอนนี้เป็นวิทยากรประจำศูนย์สอนงานฝีมือต่างๆ และกระจายความรู้ไปยังหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังต้องวัดความดัน เยี่ยมผู้ป่วยผู้สูงอายุติดเตียง โดยพา อสม.น้อย ติดตามไปด้วย บางคนมีโรคซึมเศร้า หรืออัมพฤกษ์ ก็ไปพูดคุยด้วยเพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุข
หลังจากที่ชุมชนได้ขับเคลื่อนงานเรื่องผู้สูงอายุทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก ทั้งเรื่องการกินอาหาร การปฏิบัติตัว รวมถึงสร้างรายได้ โดยทางโรงเรียนจะมีอุปกรณ์ เช่น ผ้า ซิป ให้ผู้ที่ฝึกกลับไปทำที่บ้าน หรือทำที่โรงเรียน ดังนั้น กระเป๋าทุกใบที่ขาย จะมีชื่อคนทำสอดไว้ด้านใน หากขายได้ ผู้ทำก็จะได้เงินราว 30% ของราคาสินค้า โดยทางโรงเรียนฯ จะหักเพียงต้นทุนไว้ทำต่อ หรือบางคนก็ไม่เอาเงิน แต่ให้ทางโรงเรียนเก็บไว้เป็นกองกลางเวลาทำกิจกรรม