“สุวิทย์”ซักซ้อมโรงเรียนแพทย์-พยาบาล-นักวิจัยตั้งรับไวรัสโคโรนา

“สุวิทย์”ซักซ้อมโรงเรียนแพทย์-พยาบาล-นักวิจัยตั้งรับไวรัสโคโรนา

“สุวิทย์”ซักซ้อมโรงเรียนแพทย์-พยาบาล-นักวิจัยตั้งรับไวรัสโคโรนา  ระบุเบื้องต้นทุกแห่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์  การเฝ้าระวัง คัดกรอง ด้านคณบดีคณะแพทย์หวั่นหน้ากากอนามัยขาดตลาด เหตุจีนไม่สามารถส่งออกวัสดุได้ ขณะที่ประชาชนตื่นตระหนกซื้อกักตุน

วานนี้ (3 ก.พ. 2563)นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ได้หารือร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์จากทั่วประเทศ กว่า 20 หน่วยงาน ใน "การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา" ว่าการประชุมในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนแพทย์ที่อยู่ภายใต้ อว.ทั้งหมด โดยมีคณะแพทยศาสตร์จำนวน 23 แห่ง  โรงพยาบาลมีจำนวนเตียงกว่า 14,475 เตียง และมีแพทย์ พยาบาลที่มีประสบการณ์ มากกว่า 23,758 คน ซึ่งเบื้องต้น ทุกแห่งมีความพร้อมในการบริการจัดการ เฝ้าระวัง คัดกรองไวรัสโคโรนา

ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย เครื่องมืออุปกรณ์ ห้องคัดแยก ในการดูแลผู้ป่วยและรับมือกับโรคดังกล่าว นอกจากนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการดำเนินการงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนด้านการแพทย์ สาธารณสุข และสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายเรื่องมีความก้าวหน้าและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม แต่ตอนนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการวิจัยทางคลินิกระดับประเทศ จะเป็นการทำงานร่วมกันของคณะแพทยศาสตร์ทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์ด้านการแพทย์ การวิจัย อันนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

รมว.อว.กล่าวต่อว่าได้มอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการด้านการวิจัยและวิชาการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยจะดำเนินการใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องโดยเครือข่ายนักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ การจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการเพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยเชิงรุกเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาของประเทศ โดย วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยพิเศษและเร่งด่วน ซึ่งการบูรณาการการทำงานอย่างเร่งด่วนของหน่วยงานทั้งในกระทรวง อว. และนอกกระทรวงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกกรณีได้อย่างแน่นอน

 

 

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กล่าวว่าบทบาทอว.ในการเตรียมความพร้อมรองรับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา มี 3 ประเด็น คือ 1.การดูแลนักศึกษา ซึ่งทางอว.ได้ประกาศมาตรการให้ทุกมหาวิทยาลัยดูแลนักศึกษาต่างชาติมาเรียนยังประเทศไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจีน และนักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ในประเทศจีน โดยต้องดูแลสุขภาพของนักศึกษา เช็คว่านักศึกษาเดินทางกลับมาวันไหน อย่างไร มีนักศึกษากี่คน ชื่ออะไร และเดินทางมาจากประเทศไหน  เมื่อนักศึกษาจีนหรือไทยที่กลับมาจากประเทศจีนต้องดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง คัดกรอง  ส่วนนักศึกษาไทยที่อยู่ประเทศจีนได้ติดต่อสำนักงานผู้ช่วยฑูต  ประเทศจีนดูแลนักศึกษาไทย 

2.การดำเนินการวิชาการ และการบริหาร ได้ซักซ้อมความเข้าใจ พบว่า กลุ่มโรงเรียนแพทย์มีความพร้อมทั้งในแง่บุคลากร  การวินิจฉัยต่างๆ และเครื่องมืออุปกรณ์  มีการเตรียมการรับมือป้องกันไวรัสโคโรนาอย่างดี และ3.ได้มีการสนับสนุนองค์ความรู้และงานวิจัยโดยร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ใน 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.การศึกษาตัวเชื้อและลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัส โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม 2.การศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อความเข้าใจของกรแพร่กระจายของ 3.วิธีการวินิจฉัยและชุดตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ รวดเร็ว 4.การวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อความเข้าใจด้านระบาดวิทยาระดับโมเลกุลและการติดตามการเปลี่ยนแปลงของเชื้อ และ 5.การพัฒนายาและวัคซีนที่ใช้ในการควบคุมและป้องกัน

รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ทางคณะและโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้มีการเฝ้าระวัง และคัดกรองผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง รวมถึงมีการเตรียมบุคลากร พื้นที่แยกสำหรับการเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ป่วยโรคไวรัสโคโรนาอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งที่เรากังวลตอนนี้ คือ เรื่องของการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เนื่องจากทางโรงพยาบาลต้องมีการสั่งซื้อหน้ากากอนามัยจากประเทศจีนอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ได้มีการสั่งหน้ากากอนามัยไปยังประเทศจีน 5 หมื่นชิ้น แต่ทางจีนยังไม่สามารถส่งออกมาให้ได้  อีกทั้งประชาชนมีการซื้อกักตุนไว้มาก ดังนั้น หากมีการระบาดเพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลต่างจังหวัดจะประสบปัญหาการขาดแคลนหน้ากาก ซึ่งอยากให้อว.ช่วยดูแลปัญหานี้ 

ศ.นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีสำนักแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่าสิ่งที่กังวล คือ ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาจีนกว่า 45 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก โดยในช่วงตรุษจีน มหาวิทยาลัยขอความร่วมมือไม่ให้นักศึกษากลับ นักศึกษาส่วนใหญ่ก็ปฎิบัติตามแต่ได้ขอคำตอบจากมหาวิทยาลัยว่าเมื่อใดเขาจะได้กลับบ้านที่ประเทศจีน หรือนักศึกษาจีนที่กลับบ้านไป เขาก็ถามจะได้กลับมาเรียนเมื่อใด ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่สามารถให้คำตอบได้ อยากขอนโยบายชัดเจนจากอว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามหาวิทยาลัยจะให้คำตอบได้อย่างไร เพราะหากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นักศึกษา รวมถึงความร่วมมือด้านงานวิจัย และอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีนก็ไม่สามารถทำได้

พญ.จิตรลดา อุทัยพิบูลย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า ในส่วนของมฟล.เป็นพื้นที่ที่มีเครื่องบินจากจีนมาลง และมีนักศึกษาจีนจำนวนมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ได้มีการเฝ้าระวัง และคัดกรองนักศึกษาจีน โดยเริ่มตั้งแต่นำรายชื่อนักศึกษาจีนทั้งหมดมาดูว่าใครกลับมาจากจีนวันไหน และตั้งทีมคัดกรองทุกวัน ซึ่งโชคดีที่เบื้องต้น นักศึกษามาจากเมืองอื่นๆของประเทศจีนที่ไม่ใช่เมืองอู่ฮั่น แต่เมื่อประเทศจีนประกาศทุกเมืองเกิดภาวะความเสี่ยง ขณะเดียวกันพื้นที่ชายแดนเชียงราย มีชาวจีนเดินทางเข้าออกทุกวัน ดังนั้น เมื่อต้องเฝ้าระวัง คัดกรองมากขึ้นทุกวัน คาดว่าทรัพยากรบุคลากรอาจจะไม่พอ จึงอยากฝากให้หาแนวทางในแก้ปัญหาเรื่องนี้ร่วมด้วย

ดร.ศิริศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่าขณะนี้ทางศูนย์ได้มีความร่วมมือกับทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในการจัดทำหน้ากากอนามัยป้องกันไร้ฝุ่นและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งเป็นหน้ากากอนามัยที่สามารถซักได้ และสามารถป้องกันฝุ่นPM 2.5 ได้ โดยเบื้องต้นกำลังอยู่ในขั้นการทดลองและคาดว่าจะสามารถผลิตและใช้งานได้จริงได้ในเร็วๆ นี้ ดังนั้น การผลิตหน้ากากดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาหากมีการขาดแคลนหน้ากากอนามัย