ใครได้ ใครเสีย เมื่อ ‘ดอกเบี้ย’ ลดเหลือ 1%

ใครได้ ใครเสีย เมื่อ ‘ดอกเบี้ย’ ลดเหลือ 1%

คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตรา "ดอกเบี้ยนโยบาย" ที่ 1% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี ที่มาพร้อมกับเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ ทั้งผลประโยชน์ และผลกระทบ ที่แตกต่างกัน

หลังจากผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ "ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย" 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

อ่านข่าว-ดอกเบี้ย 1% ต่ำสุดรอบ 20 ปี สู่ภัยไวรัสอู่ฮั่น

การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งหากมองในระดับประเทศ การตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ คือการรักษา "เสถียรภาพทางการเงิน" ของประเทศ หลักจากที่คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการระบาดของไวรัสโคโรน่า ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง

รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงิน และการคลัง

การตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ คือการรักษา "เสถียรภาพทางการเงิน" ของประเทศ หลักจากที่คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการระบาดของไวรัสโคโรน่า ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง

คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น

ขณะเดียวกันนอกจากผลที่เกิดขึ้นในระดับมหภาคแล้ว การลดดอกเบี้ยนโยบายมาที่ 1% ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และประชาชนตามไปด้วย ซึ่งมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์ และผู้ที่เสียประโยชน์จากการปรับดอกเบี้ยนโยบายครั้งประวัติศาสตร์เช่นกัน

  

  • ใครได้ประโยชน์

"ประเทศ" มีตัวช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ตามมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อมากขึ้น หลังจากที่เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำมานาน

"การส่งออก" เมื่อลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับต่างประเทศลดลง ทำให้เงินทุนไหลออก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง มีส่วนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ผลักดันให้การผลิตในประเทศขยายตัว การส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

"ภาคธุรกิจ" ภาคธุรกิจจะมีหนี้สินน้อยลง เนื่องจากได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ต่ำลง จากการที่ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีส่วนให้ภาคธุรกิจมีฐานะการเงินที่เข้มแข็งขึ้น

ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด มีธนาคารที่ปรับลดดอกเบี้ย เงินกู้แล้วทั้งหมด 5 แห่ง ดังนี้

158107597662

"ประชาชน" ได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยเงินกู้หรือสินเชื่อ เช่น กรณีที่กำลังจะขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม ขณะที่คนที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว และทำสัญญาเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัวก็ย่อมได้จ่ายดอกเบี้ยน้อยลง นอกจากนี้ คนที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้วยังมีโอกาสรีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระดอกเบี้ยลงได้ในช่วงนี้ด้วย

  

  • ใครเสียประโยชน์

"การนำเข้า" เมื่อลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับต่างประเทศลดลง ทำให้เงินทุนไหลออก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ธุรกิจหรือหน่วยอื่นๆ ของระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการนำเข้าลดลงตามไปด้วย

"ประชาชน" ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากน้อยลง เนื่องจากเมื่อไหร่ก็ตามที่ลดดอกเบี้ยนโยบาย สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมาคือการลดดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชน และภาคธุรกิจ

เมื่อ "ดอกเบี้ยเงินฝากลดลง" ผลตอบแทนจากการฝากเงินย่อมลดลงตามไปด้วย ทว่า ตัวเลขผลตอบแทนเงินฝากออมทรัพย์หลายปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับต่ำจนแทบสัมผัสไม่ได้ เห็นได้ชัดเจนจากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์แบบธรรมดาของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ณ ปัจจุบัน (7 ก.พ. 63) อยู่ที่ 0.05% – 2.25% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งหากลดลงไปตามดอกเบี้ยนโยบายอีก ย่อมทำให้ประชาชนที่ฝากเงินได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเดิม

 

"ผู้ที่ลงทุน ในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงิน" มีโอกาสได้ผลตอบแทนลดลง เช่น กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ กองทุนที่ลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ เมื่อดอกเบี้ยนโยบาย และดอกเบี้ยเงินฝากลดลง อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ย่อมมีโอกาสลดลงตามไปด้วย

แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือ ประชาชน และนักลงทุน จะหันไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าจากการลงทุนอื่นๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (Search for Yield) ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องแบกรับความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งยังเป็นประเด็นที่น่ากังวล

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรศึกษาการลงทุนที่สอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจของตัวเอง ให้สอดคล้องความเสี่ยงที่รับได้ ก่อนตัดสินใจลงทุน รวมถึงการติดตามสถานการณ์ที่อาจมีส่วนเข้ามากระทบการลงทุนในระยะต่างๆ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กนง. ระบุว่าจะติดตามพัฒนาการ
ขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ...งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม รวมทั้งจะติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย