“อากาศสะอาด” แก้ฝุ่น pm 2.5 ออก กม.- คิดต้นทุนสิ่งแวดล้อม

“อากาศสะอาด” แก้ฝุ่น pm 2.5  ออก กม.- คิดต้นทุนสิ่งแวดล้อม

12 ก.พ.2562 ประเทศไทยได้กำหนดให้สถานการณ์ของฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีแผนมาตรการขับเคลื่อนแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว ทว่าสถานการณ์ของฝุ่นละออง PM2.5 ยังคงเกินค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่

โดยวานนี้ (6 ก.พ.2563) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 22 เรื่อง “ฝุ่น PM2.5:แก้ปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน” เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และหาทางออกของปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 

ทุกองค์กรตั้งเป้า “อากาศสะอาด”

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าบทเรียนที่ได้จากการเรียนรู้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้เห็นว่าภาคประชาชนมีสิทธิในการได้อากาศสะอาด และมีการเรียกร้องในเรื่องนี้มากขึ้น โดยประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ ของฝุ่นละออง PM 2.5 นอกจากนั้นได้เรียนรู้การตรวจวัด มาตรฐานต่างๆ ซึ่งมองว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน และมีความรุนแรงมากขึ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดการชะลอการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 คือตัวชี้วัดความสำเร็จ ที่ไม่ได้มองเรื่องของอากาศสะอาด แต่กลับไปดูเรื่องจุดความร้อน

158101417591

“การจัดการจึงต้องพิจารณาถึงกลไกที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการในภาคส่วนต่างๆ ทุกหน่วยงานต้องมีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่ต้องการให้เกิดอากาศสะอาด และมองมิติเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งหากอยากได้อากาศสะอาด ต้องมีพลังของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม"

   

นอกจากนั้น การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องจัดการ 4 ประเด็นคือ 1.แหล่งกำเนิด โดยต้องสร้างการเกษตรยั่งยืน การจัดการเชื้อเพลิง เมืองน่าอยู่ และ circular economy 2.การตรวจวัด เครือข่ายเฝ้าระวังของประชาชน sensor network 3.ผู้รับผลกระทบ การเข้าถึงข้อมูล การตระหนักถึงการป้องกันตนเอง การมีส่วนร่วมการแก้ปัญหา และ4.นโยบายการบังคับใช้ กลไกทางภาษี กลไกปรับโครงสร้าง การป้องกันการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงรัฐบาลต้องมีความชัดเจนในการขับเคลื่อนตัวมาตรฐาน และกฎหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายคุมทั้งประเทศ แต่แบ่งเป็นพื้นที่และมีแนวทางในการแก้ปัญหาจัดการพื้นที่เหล่านั้นยึดโยงกับบริบทของชุมชนแต่ละพื้นที่

  • เสนอ กม.อากาศสะอาดสูตร reform plus

รศ.ดร.คนิงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องทำให้มีกฎหมายอากาศสะอาดสูตร reform plus:เครื่องมือคว้านลึกความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายหลายๆฉบับที่มุ่งแก้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างของประเทศไทย เพราะตอนนี้ทุกคนไม่ตระหนักเนื่องจากเป็นปัญหาที่มองไม่เห็น และมีการแก้ไขแบบวนไปเรื่อยๆทั้งที่ต้องแก้ทั้งระบบและมีกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้ทุกคนได้มีสิทธิ์ที่จะหายใจจากอากาศสะอาด โดยเป็นสิทธิ์ที่ต้องค่อยเป็นค่อยไปในการจะเกิด 

158101467385

ซึ่งสิทธิของประชาชนนี้จะก่อให้เกิดหน้าที่ของรัฐ รัฐมีหน้าที่ต้องคอยทำค่อนไปก่อให้เกิดขึ้นสิทธินั้น 3 Step คือ Respect Protect และFulfill ถ้ารัฐไม่ทำหน้าที่ รัฐต้องรับผิดชอบ และประชาชนไปฟ้องศาลได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เป็นมิติของสุขภาพ ดังนั้น องค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้

  • “อากาศสะอาดไม่ได้ฟรี” ต้องมีต้นทุน

รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ กล่าวว่า รถเป็นต้นเหตุทำให้เกิดฝุ่น ขณะนี้ไทยไม่มีกฎหมายกำหนดอายุรถ โดยช่วงอายุของรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางที่ตรวจสภาพไม่ผ่านเกณฑ์อยู่ในช่วงอายุ 11-20 ปีสิ่งที่ต้องทำ คือการยกระดับมาตรฐานรถใหม่และน้ำมันเชื้อเพลิงควบคู่กันไป โดยต้องมีมาตรการที่เป็นไปได้ในการบริหารรถเก่าทั้งการเข้มงวดการตรวจสภาพประจำปี ปรับเพิ่มอัตราภาษีประจำปีเมื่อรถมีอายุเกิน 7 ปี หรือ 10 ปี และจำกัดอายุการใช้รถในเขตเมือง ไม่เกิน 10 ปี

158101460465

รวมถึงต้องส่งเสริมให้ลดการใช้รถส่วนบุคคล โดยการยกระดับรถขนส่งมวลชน และปรับปรุงการบริการรถขนส่งสาธารณะ ทดแทนรถเก่าด้วยรถใหม่ที่มีคุณภาพสูง ปรับปรุงโครงสร้างและสถานะทางการเงินของขสมก. ส่งเสริมโครงข่ายรถเมล์ให้สามารถทำหน้าที่เป็นระบบป้องกันรถไฟฟ้าที่กำลังทยอยเพิ่มมากขึ้น เร่งแก้ปัญหาการเดินทางขาแรกและขาสุดท้าย

ผุดนวัตกรรม “ลดฝุ่นละอองขนาดเล็กฯ”

รศ.ร.ต.อ.หญิง ภญ.ดร.สุชาดา สุขหร่อง อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าขณะนี้คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ได้วิจัยโดยใช้เทคโนโลยีสหสาขาในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและควบคุมผลกระทบทางสุขภาพอันเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก

158101467266

โดยทำงานวิจัยเชิงรุกหาวิธีการป้องกันการได้รับฝุ่น ทีมวิจัยได้คิดค้นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กภายในอาคารแบบรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ราคาถูก และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดปริมาณการรับฝุ่นเข้าสู่ร่างกายจากรับมากให้น้อยลง ตลอดจนมีการวิจัยและพัฒนาต้นแบบหน้ากากที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นในการกรองฝุ่นและเชื้อก่อโรคหลายชนิด คิดค้นชุดล้างตาล้างจมูกที่ใช้งานง่ายและปลอดภัย       

ซึ่งนวัตกรรมทั้งหมดนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทดลอง ไปแล้วกว่า 50% คาดว่าจะสามารถเผยแพร่ให้ประชาชนได้ใช้เร็วๆ นี้ รวมถึงตอนนี้ได้มีการศึกษาบทบาทของตัวยาจากธรรมชาติในการลดอันตรายเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กได้เข้าสู่ร่างกาย เพื่อเจือจางการเกิดมลพิษต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ปอดและผิวหนัง ซึ่งเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นโดยตรง และค้นคว้าหาสมุนไพรที่ปรับภูมิคุ้มกันหรือช่วยลดการเกิดภูมิแพ้