'ไบรอัน' ผุดธุรกิจใหม่ 'ขายตรง' ผนึกทุนญี่ปุ่นรุกตลาดไทย

'ไบรอัน' ผุดธุรกิจใหม่ 'ขายตรง' ผนึกทุนญี่ปุ่นรุกตลาดไทย

ธุรกิจจะสร้างการเติบโตได้ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการ “ขยาย” ตลาดใหม่ ๆ นำสินค้าและบริการไปเจาะกลุ่มเป้าหมาย “ไบรอัน แอล มาร์การ์” ดำเนินธุรกิจในไทยเป็นเวลานาน และล้วนสร้างชื่อมากมาย เช่น บีอีซี เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้จัดคอนเสิร์ต อีเวนท์

แม้ “ไบรอัน” จะมีธุรกิจส่วนตัวมากมาย แต่ยังมองหาโอกาสใหม่ ๆ ล่าสุด ได้ดึง “ฟอร์เดย์ ธุรกิจขายตรงสัญชาติญี่ปุ่นรุกตลาดไทย ท่ามกลางสถานการณ์ของธุรกิจขายตรงมูลค่าราว 7 หมื่นล้านบาท ที่ไม่ได้โตหวือหวา และอาจเป็น “ขาลง” ด้วยซ้ำ

“เราใช้เวลาหารือกับพาร์ทเนอร์ประมาณ 2 ปี และตัวผมใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองราว 1 ปี ยิ่งกว่านั้นผมทำธุรกิจในไทยมากว่า 20 ปี ต้องการคืนความสุขให้ผู้บริโภค” ไบรอัน เล่าที่มา ก่อนตัดสินใจดึงทุนญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนตั้งบริษัท ฟอร์เดย์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยทุนจะทะเบียน 10 ล้านบาท ถือหุ้นฝ่ายละ 50% เท่ากัน โดยตัวเขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ

แม้ว่าตลาดขายตรงจะไม่บูมเหมือนในอดีต แต่การทำตลาดของน้องใหม่ “ฟอร์เดย์” จะชูคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างการรับรู้ในตลาด มากกว่าจะเป็น “ผลตอบแทน” ให้กับนักธุรกิจ แต่กระนั้นการให้ผลตอบแทน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามค่าเป็นสมาชิก นักธุรกิจจำหน่ายสินค้า ก็การันตีว่า “จ่ายสูงสุด” เท่าที่กฎหมายจะเอื้อ

ส่วนสินค้าที่นำมาทำตลาด พระเอกคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ฟอร์เดย์ ดีเอ็น คอลลาเจน” ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าขายดีในญี่ปุ่น เสริมทัพด้วยฟอร์เดย์ มูซ่า เอสเซ้นส์ ดริ้งค์ สโนวี่ เป็นต้น จากสินค้าที่ขอขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งสิ้น 19 รายการ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 11 รายการ และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(สกินแคร์) 8 รายการ

อย่างไรก็ตาม นอกจากตลาดในประเทศไทย ยังตั้งเป้าขยายความร่วมมือไปลุยตลาดจีน และเมียนมา ภายในปีนี้ด้วย

เคอิโกะ วาดะ ประธาน บริษัท ฟอร์เดย์ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพธุรกิจขายตรงของบริษัทถือเป็นท็อป 3 ของตลาด และมีรายได้ 40,000 ล้านเยน โดย 17 ปีที่ผ่านยอดขายเติบโตต่อเนื่องใสนอัตรา 2 หลัก และ 5 ปีที่ผ่านมาโต 3-4% ขณะที่ปี 2562 การโตลดลง 4% สอดคล้องกับภาพรวมธุรกิจขายตรงในญี่ปุ่นมูลค่า 640,000 ล้านเยน หดตัว 4%

ธุรกิจขายตรงในญี่ปุ่นถือเป็นขาลง เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ทำให้บริษัทมองการขยายตลาดไปยังนอกประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเลือกไทย เพราะมองศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ และพันธมิตรที่มีความน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ การทำธุรกิจขายตรงในไทย ได้ยกโมเดลจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ ทั้งการฝึกอบรมนักธุรกิจ การสร้างเครือข่ายนักธุรกิจ จะมีตั้งแต่ระดับสมาชิก ผู้นำ ผู้อำนวยการ 1 ดาว ผู้อำนวยการ 2 ดาว และผู้อำนวยการ 3 ดาว ซึ่งระดับชั้นสูงสุดในญี่ปุ่น ทำรายได้สูงถึง 1 ล้านบาท ปัจจุบันมีสมาชิก 280,000 คน

ขณะที่การนำสินค้าฟอร์เดย์ ดีเอ็น คอลลาเจน มาบุกตลาด เพราะเป็นสินค้าเรือธงที่ทำยอดขายให้บริษัทสูงสุดถึง 70% จากสินค้าทั้งหมด 54 รายการ ใน 2 หมวด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีสัดส่วน 85% และสกินแคร์มีสัดส่วน 15% อีกทั้งมองโอกาสตลาดจากไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น จึงคาดว่าสินค้าดังกล่าวจะเจาะกลุ่มเป้าหมายสูงวัยได้อย่างดี

 

ขายตรงในไทยถือว่าอยู่ในเทรนด์ที่โตน้อยลง เพราะตลาดมีการขายสินค้าในเชิงรุกหรือเหมือนยัดเยียดให้ผู้บริโภคซื้อในปริมาณมากๆ รวมถึงการใช้ผลตอบแทนเป็นตัวดึงดูดนักธุรกิจ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวในธุรกิจขายตรงเป็นเหมือนกันทั้งโลก แต่เราเน้นจะเน้นคุณภาพสินค้า ให้ใช้และเกิดการบอกต่อ ที่สำคัญลูกค้าที่ใช้สินค้าของบริษัท ราว 1 ใน 3 จะมีการใช้ซ้ำ

อย่างไรก็ตาม การรุกธุรกิจขายตรงในไทย บริษัทวางเป้าหมายจะมียอดขาย 3,500 ล้านบาท ภายใน 3 ปี และมีฐานสมาชิก 80,000 คน จากปีแรกคาดว่ามี 30,000 คน และจะส่งผลให้ยอดขายรวมของบริษัทกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

“ปัจจุบันฟอร์เดย์ มีธุรกิจใน 8 ประเทศทั่วโลก โดย 3 ประเทศที่สร้างยอดขายเติบโตสูง ไดเแก่ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ขณะที่การขยายตลาดในประเทศไทย กำหนดให้เป็นประเทศเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ เพื่อสร้างการเติบโตด้วย ซึ่งการปีนี้บริษัทมีเป้าหมายที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากปีที่ผ่านมายอดขายลดลง 4%”