'กรมสุขภาพจิต' ส่งทีมดูแลผู้ได้รับผลกระทบเหตุกราดยิงโคราช
โฆษกรัฐบาลเผย "กรมสุขภาพจิต" เตรียมส่งทีมดูแลจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุกราดยิงในโคราช
เมื่อเวลา 00.25 น. วันที่ 9 ก.พ. 63 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลเผยผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า กรมสุขภาพจิต เตรียมส่งทีมเข้าดูแลจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา โดยเตรียมส่งทีม MCATT (ทีมวิกฤติสุขภาพจิต) เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยกรมสุขภาพจิตแนะนำแนวทางในการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิด เพื่อดูแลผลกระทบทางจิตใจของตนเองและคนใกล้ชิด
นางนฤมลทวีตว่า นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง กรณีเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ที่เกิดขึ้นวานนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดจากวิกฤติน้ำมือมนุษย์ที่มีความมุ่งหมายเอาชีวิตนั้น จะส่งผลรบกวนความรู้สึกปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่ที่เกิดเหตุถึงแม้ว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์โดยตรงก็ตาม ผลกระทบนี้ยังสามารถเกิดแก่ประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เตรียมการดูแลสภาพจิตใจของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเตรียมส่งทีม MCATT (ทีมวิกฤติสุขภาพจิต) เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนอย่างเร่งด่วน
"นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวต่ออีกว่า นอกจากนั้น เพื่อดูแลผลกระทบทางจิตใจของตนเองและคนใกล้ชิด โดยกรมสุขภาพจิตแนะนำแนวทางในการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดดังนี้
1. ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองเพื่อเตรียมการดูแลจิตใจของคนรอบข้าง ให้พยายามรับประทานอาหาร นอนหลับพักผ่อน ออกกำลัง และพยายามใช้ชีวิตปกติเท่าที่เป็นไปได้
2. ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตนเองซึ่งอาจเกิดความรู้สึกมากมายในจิตใจ ต้องให้เวลาในการจัดการและช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
3. หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง การมีความเปลี่ยนแปลงด้านการกิน การนอน รู้สึกหมดกำลัง และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นสัญญานของระดับความเครียดสูง ถ้าเป็นเด็กและเยาวชน จะมีอาการถดถอย เช่น เกาะคนดูแลแน่น ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์รุนแรง
4. หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไปจากสื่อ ภาพความรุนแรงต่างๆ รวมไปถึงข่าวปลอมและข่าวลือ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตภายหลังเผชิญภัยพิบัติ
5. พยายามหาวิธีช่วยให้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว เพื่อช่วยกันสนับสนุนด้านอารมณ์ให้ผ่านช่วงที่ยากลำบาก
6. เพิ่มการพูดคุยและติดต่อกับผู้อื่นเท่าที่ทำได้ เพื่อระบายความรู้สึก ช่วยเหลือพูดคุยกับคนรอบข้างโดยเน้นที่ความเข้มแข็งของบุคคลที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้ ทั้งนี้หากพบความผิดปกติ ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วน 1323 ได้ฟรี ตลอด 24 ชม."