ไทยพบผู้ติดไวรัสโคโรน่า2019 เพิ่ม 1 ราย เป็นรายที่ 33
สธ.เผยพบผู้ป่วยยืนยันติดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพิ่ม 1 ราย เป็นรายที่ 33 หญิงจีนอายุ 54 มาจากอู่ฮั่น อาการโดยรวมดีขึ้น ย้ำเบื้องต้นไทยยังไม่อนุญาตให้เรือ..เทียบท่าแหลมฉบัง ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวบรวมข้อมูลร่วมกับการท่า
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ไทยมีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มเติม 1 ราย เป็นรายที่ 33 โดยเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนอายุ 54 ปี มาจากเมืองอู่ฮั่น เดินทางมาก่อนปิดเมือง โดยรายนี้เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันที่เป็นนักท่องเที่ยวชายจีนรายที่ 22 ซึ่งรายนี้เป็นผู้สัมผัสจึงได้ติดตามเฝ้าระวังไข้ทุกวันใน 14 วัน เมื่อพบว่ามีไข้จึงนำตัวเข้ามาที่ห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูรเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 และดูแลรักษา ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ อาการดีขึ้นโดยลำดับ
“ประชาชนไม่ต้องกังวล รายนี้เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายที่ 22 ซึ่งผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกรายอยู่ในการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ เมื่อมีอาการก็นำเข้าห้องแยกโรค ส่วนที่ไม่มีอาการติดตามทุกวัน ไม่ต้องกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคแต่อย่างใด ส่วนผู้ป่วยยืนยันรายอื่นในภาพภาพรวมอาการดีขึ้น หลายรายพร้อมให้กลับบ้าน แต่ยังติดเงื่อนไขที่วางไว้สูงสุด คือผลตรวจแล็บต้องไม่พบเชื้อ แม้มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังนอนห้องแยกโรคแต่สบายดีทุกอย่าง ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 2 ราย อาการยังทรงตัว ”นายแพทน์สุวรรณชัยกล่าว
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า กรณีเรือสำราญที่ขอเทียบท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เมื่อกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ทราบข่าว ได้ประสานการท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า ที่จะอนุญาตให้เรือเข้ามาหรือไม่ ทราบว่าตัวแทนเรือมีเอกสารประสานงานมาจริง แต่ยังไม่มีการอนุญาต กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเรื่องการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่นำโรคติดต่อจากกลุ่มคนหรือคณะเข้าสู่ประเทศแน่นอน การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข อาศัยอำนาจ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 23 กำหนดให้มีคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก ท่าเรือแหลมฉบังก็จะมีคณะทำงานอยู่ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มาตรา 24 กำหนดหน้าที่ว่าต้องดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ มาตรา 39 กำหนดกรณีมีเหตุสงสัยว่าเรือมาจากท้องที่ หรือเมืองท่าที่มีโรคระบาด กฎหมายมอบอำนาจให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่ตรวจผู้เดินทาง พาหนะ การพิจารณาเรื่องกาให้เทียบท่าหรือการเข้าเมือง โดยร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง( ตม.) เรื่องเทียบท่าพิจารณาร่วมกันกับเจ้าของท่า โดยแหลมฉบังคือท่าเรือแหลมฉบัง และหน่วยงานภาครัฐคือกรมเจ้าท่า
ยังไม่อนุญาตเรือท่องเที่ยวเทียบท่า
“กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้คณะทำงานที่มี นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวราชการเขตสุขภาพที่ 6 ร่วมกับ นายแพทย์สุวิทย์ ธรรมปาโล รองด่านควบคุมโรค นายแพทย์หรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ( สคร. 6 ชลบุรี) เดินทางไปท่าเรือแหลมฉบัง ในการประสานกับองค์ประกอบหรือคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก เพื่อหารือการดำเนินงานให้เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข( รมว.สธ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ห่วงใยกรณีดังกล่าว และหารือกันตั้งแต่เมื่อคืน ข่าวที่เกิดอาจสร้างความสับสนประชาชนคนไทย เบื้องต้นยังไม่ได้อนุญาตให้เรือเข้าเทียบท่าแต่อย่างใด”นายแพทย์สุเทพกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการนำข้อมูลที่ได้จากการที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่มาพิจารณาอีกครั้งในการจะอนุญาตให้เทียบท่าหรือไม่อนุญาตใช่หรือไม่ นายแพทย์สุวรรณชัย ตอบว่า เป็นการรวบรวมข้อมูล หากไม่พิจารณาก็ไม่พิจารณา
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า คณะทำงานลงไปดูข้อมูลหน้างาน ซึ่งเส้นทางเรือนั้นไม่ได้ผ่านไทยตั้งแต่แรก แต่ต้องสอบถามข้อมูลจากเอเยนซีด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานใดตามกฎหมาย จะไม่อาศัยเพียงแค่ข่าว จะต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้าน ซึ่งนโบายของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจ ป้องกันควบคุมไม่ให้มีโรคติดต่อระหว่างประเทศเข้ามา โดยเห็นกับประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นสำคัญ แต่ก็คำนึงถึงมนุษยธรรมด้วย ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่นที่ดูประโยชน์ประเทศเป็นหลัก และภาระประเทศโดยรวม แม้จะไม่อนุญาตให้เรือเทียบท่า แต่เมื่อมีผู้ป่วยก็ยังดูแล ไม่ใช่ไม่ให้เทียบท่าแล้วไม่ดูแล
ผู้ป่วยที่ราชวิถีออกจากห้องแยกโรค
ด้านนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยหญิงชาวจีน ที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงและรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ออกจากห้องแยกโรคแล้ว เนื่องจากผลตรวจเชื้อเป็นลบ รอดูอาการอย่างอื่นก่อนที่แพทย์จะพิจารณาให้กลับบ้านได้ ทั้งนี้ โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันโรคทรวงอก มีผู้ป่วยยืนยันรักษาตัวอยู่มี 7 ราย อาการดีขึ้น ไม่มีอาการรุนแรง บางรายผลห้องแล็บเป็นลบเช่นกัน
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนการเฝ้าระวังและติดตามผู้เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยในชุมชนและด่าน กรมการแพทย์ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลทุกภาคส่วน เตรียมห้องแยกโรค หอผู้ป่วยเพื่อรองรับไว้ในกรณีหากมีสถานการณ์ระบาดมากกว่านี้ การ์ดยังไม่ตก เต็มที่และเข้มข้นเตรียมความพร้อม ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินมีข้อสั่งการเพื่อให้การแยกโรคผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ออกจากระบบ คือ คลินิกไข้หวัด ดำเนินการในเขตสุขภาพ ที่มีกลุ่มเสี่ยงนักท่องเที่ยวเริ่มปฏิบัติการ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสั่งการไปยังเขตสุขภาพ และจังหวัด