"พาณิชย์”เบรกส่งออกหน้ากากอนามัย 

"พาณิชย์”เบรกส่งออกหน้ากากอนามัย 

กรมการค้าภายใน เผย หลังประกาศกกร. 3 วัน ยอดขออนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัย ทะลุ 18 ล้านชิ้น แต่ยังไม่อนุญาต ระบุต้องบริหารให้ภายในประเทศมีสินค้าเพียงพอ 

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่กำหนดให้การส่งออกหน้ากากอนามัยตั้งแต่ 500 ชิ้นขึ้นไป ต้องขออนุญาตจากกรมฯ ก่อน และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.2563 พบว่า จนถึงวันที่ 11 ก.พ.2563 มีผู้มาขออนุญาตเพื่อส่งออกหน้ากากอนามัยรวม 40 ราย จำนวนที่ขออนุญาตส่งออกประมาณ 18.5 ล้านชิ้น ส่วนวันที่ 12 ก.พ.2563 ยังไม่ได้สรุปตัวเลข แต่เชื่อว่าน่าจะมีผู้มาขออนุญาตส่งออกเพิ่มขึ้นอีก โดยกรมฯ ยังไม่ได้อนุญาตให้รายใดทำการส่งออก เพราะต้องการบริหารจัดการให้ในประเทศมีสินค้าเพียงพอใช้ก่อน

ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้เร่งประสานผู้ผลิต เพื่อให้จัดส่งหน้ากากอนามัยมาให้กรมฯ ในฐานะเป็นศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยเพื่อที่จะนำไปกระจายให้กับหน่วยงานและผู้ที่จำเป็นต้องใช้ และนำไปจำหน่ายให้กับประชาชนที่มีความต้องการใช้ก่อน โดยตั้งเป้าขอให้ผู้ผลิตจัดส่งให้วันละ 6 แสนชิ้น และจะกระจายต่อให้กับองค์การเภสัชกรรมวันละ 2 แสนชิ้น การบินไทยวันละ 1.8 หมื่นชิ้น สมาคมร้านขายยาวันละ 2.5 หมื่นชิ้น และกระทรวงพาณิชย์ขายเองวันละ 2 แสนชิ้น ทั้งเปิดจำหน่ายที่กระทรวงฯ และส่งไปขายในร้านธงฟ้าที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้จัดส่งไปแล้ว และจะจัดส่งต่อเนื่อง

         

158149761835 นายวิชัยกล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้เรียกประชุมวอร์รูมหน้ากากอนามัย ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยได้กำชับให้ประสานผู้ผลิต เพื่อผลิตสินค้าให้มีเพียงพอต่อความต้องการ โดยตัวเลขล่าสุด โรงงานที่มีอยู่ในไทยน่าจะผลิตได้เดือนละ 35 ล้านชิ้น และขอให้เคลียร์กับผู้ส่งออกว่าจะไม่อนุญาตให้มีการส่งออกในช่วงนี้ เพื่อให้สินค้าในประเทศมีเพียงพอ เพราะประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ก็ห้ามการส่งออก เพื่อให้คนในประเทศตัวเองมีสินค้าใช้อย่างเพียงพอก่อน

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจแหล่งวัตถุดิบผลิตหน้ากากอนามัยว่ามีอยู่ที่ไหนบ้าง และให้รายงานผลเข้ามาโดยด่วน เพื่อที่จะได้ประสานให้ผู้ผลิตทำการสั่งซื้อและนำมาใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยต่อไป เพราะแหล่งนำเข้าวัตถุดิบสำคัญอย่างจีน เริ่มจำกัดการส่งออก เนื่องจากในจีนเอง ก็มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น

          

สำหรับการจับกุมผู้กระทำความผิดจำหน่ายหน้ากากอนามัยราคาสูงเกินจริง ล่าสุดกรมฯ ได้ทำการจับกุมแล้วรวม 19 ราย แยกเป็นกรุงเทพฯ 14 ราย และต่างจังหวัด 5 ราย ที่ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และนครปฐม และกำลังตรวจสอบการจำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงเกินจริงที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภค ซึ่งกรมฯ อยากจะขอเตือนไปยังผู้บริโภคให้เพิ่มความระมัดระวังในการซื้อสินค้า เพราะอาจจะถูกหลอกลวงได้ เพราะบางรายโพสต์ขายสินค้า และให้โอนเงินก่อน แต่ไม่มีสินค้าขายจริง