'นกเงือก' นักปลูกป่าชะตาต้องสาป กับ วงจรค้าสัตว์ผิดกฎหมาย

'นกเงือก' นักปลูกป่าชะตาต้องสาป กับ วงจรค้าสัตว์ผิดกฎหมาย

นอกจาก "นกเงือก" จะมีคุณค่าความเป็นนักกระจายเมล็ดพันธุ์ และสัญลักษณ์ของรักแท้แล้ว ตัวของมันเองยังมีมูลค่าในขบวนการค้าสัตว์ผิดกฎหมาย ที่จนถึงตอนนี้สถานการณ์ "นกเงือก" ในไทยก็ยังตกอยู่ในความเสี่ยงไม่เปลี่ยนแปลง

จะเรียกว่าเวรกรรมก็ไม่ปาน เมื่อเราพูดถึงสถานการณ์ "นกเงือก" ของประเทศไทย โดยเฉพาะขบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่ทำให้ ลูกนกเงือกตัวแล้วตัวเล่าถูก “ลัก” ออกจากรัง เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคมนี้ ถือเป็น 3 เดือนอันตรายสำหรับลูกนกที่อยู่ในรังอย่างยิ่ง 

เรื่องราวเหล่านี้นั้นถูกย้ำชัดจาก ปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก(ส่วนภาคใต้) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมาโดยตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ทศวรรษ ยิ่งในยุคสมัยที่การสื่อสารทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ความซับซ้อนของขบวนการลักลอบค้านกเงือกนั้นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ป่าดิบแดนใต้ในช่วงนี้นั้นถือเป็นช่วงเฝ้าระวังที่เข้มข้น และเจ้าหน้าที่โครงการฯ ต้องทำงานหนักที่สุดอีกช่วงของปีในการเฝ้าระวังไม่ให้มีผู้มาลักลอบล้วงลูกนกเงือกจากรังหาหน้าจากผืนป่าไปปรากฏอยู่ในลิสต์รายชื่อสินค้าบนโลกออนไลน์แทน 

แต่ไหนแต่ไรนิเวศนกเงือกในประเทศไทยนั้นถือเป็นนิเวศที่สมบูรณ์ อีกแห่งหนึ่งของภูมิภาค โดยมีพื้นที่ศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นอยู่ 3 พื้นที่ คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้มีนกเงือกได้ครอบคลุมทั้ง 13 สายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทย

“สำหรับสถานการณ์นกเงือก ปี 2559 นั้นค่อนข้างมีปัญหา เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้อาหารขาดแคลน นกเงือกจึงไม่ค่อยเข้ารัง ส่งผลให้มีอัตราการขยายพันธุ์น้อย แต่ในปี 2560 สถานการณ์ดีขึ้นมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2559 ในพื้นที่ศึกษาเขาใหญ่ มีนกเงือกเข้าไปทำรังเพียง 9 รัง แต่ปี 2560 มีถึง 33 รัง ทั้งนี้ โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก เป็นทีมงานแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการใช้โพรงเทียม” นั่นคือสิ่งที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เคยพูดไว้บนเวทีเสวนาวันรักษ์นกเงือกเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา 

158150139480

  • อ่านข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ชะตากรรม 'นกเงือก' ในภาวะเสี่ยง 'สูญพันธุ์' จากน้ำมือมนุษย์

13 กุมภาพันธ์ 'วันรักนกเงือก' นักปลูกผู้ปกปักษ์ป่าสมบูรณ์

วันรักนกเงือก ถึง 'นกเงือก' ที่รัก(ษ์)

ขณะที่ปรีดาสะท้อนปัญหานกเงือกที่พบในประเทศไทยนั้นล้วนแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ เช่น ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อาจเป็นปัญหาเรื่องของโพรงรังที่ไม่เพียงพอ ส่วนที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี มีปัญหาเรื่องโพรงรังและการคุกคามจากมนุษย์ เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาลูกเล็กๆ มีหมู่บ้านล้อมรอบ ซึ่งในหมู่บ้านก็จะมีพรานที่ล่านกเงือก เนื่องจากเขาไม่มีความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์แต่หลังจากที่ โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก เข้าไปอธิบายและให้ความรู้ ชาวบ้านหลายคนก็เห็นถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือกับโครงการ

สำหรับปัญหาการล้วงลูกนกไปขาย ปัจจุบันถึงจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหานี้ก็ตาม แต่เนื่องจากความต้องการของตลาดที่มีพ่อค้าคนกลางเป็นกลไกหลัก ทำให้ปัญหาการลักลอบล้วงลูกนกไปขายไม่เคยหมดไป โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าปิดภาคใต้ แหล่งอาศัยของนกเงือก 10 ชนิดจากนกเงือก 13 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศ 

“ตัวหลักจะเป็นนกเงือกหัวแรดจะโดนค่อนข้างเยอะทุกปี” สรยุทธ ไชยเขียว หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือ จ.นราธิวาส เล่าถึงสภาพการล้วงลูกนกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ในการอยู่อาศัยของบรรดานักแพร่เมล็ดพันธุ์แห่งธรรมชาติ มูลค่านกเงือกตัวหนึ่งนั้น จะมีการซื้อขายกันตั้งแต่หลัก หนึ่งถึงสองพันบาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับใบสั่ง โดยมีแหล่งรับซื้อใหญ่ๆ อยู่ที่บริเวณพื้นที่รอยต่อ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ก่อนจะถูกส่งต่อไปตามเส้นทาง จนถึงตัวผู้ที่อยากเลี้ยง สวนสัตว์ต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ 

สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น จะมีประเทศจีน และสิงคโปร์ แหล่งรับซื้อสำคัญของลูกนกเหล่านี้ ซึ่งข้อมูลในตลาดมืดระบุว่า เฉพาะหัวนกชนหินนั้นหากส่งไปถึงมือผู้ซื้อได้จะมีราคาสูงถึงหัวละ 30,000 บาทเลยทีเดียว

158150139229

โดยการลักลอบค้าสัตว์ผิดกฎหมายในพื้นที่ปลายด้ามขวานตามรายงานการจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งไปกว่านั้น การประกาศซื้อขายลูกนกเหล่านี้ผ่านเว็บไซด์ หรือเครือข่ายออนไลน์อย่างโจ่งแจ้ง ยิ่งตอกย้ำถึงวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับผืนป่าธรรมชาติบ้านเราในวันนี้

ด้วยพฤติกรรมการหากินที่หลากหลายทำให้นกเงือกได้ชื่อว่า เป็นนักปลูกป่า ซึ่งข้อมูลจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า ลูกนกเงือกที่มีการสำรวจพบเกือบ 4,000 ตัวในปี 2559 นั้นจะสามารถปลูกต้นไม้ได้มากถึง 72,000 ต้น การหายไปของนกเงือกจึงหมายถึงป่าที่จะหายไปด้วย

หรือจะเป็นการสืบทอดสายพันธุ์ดึกดำบรรพ์อย่าง นกชนหิน ที่ดำรงสายพันธุ์มากว่า 45 ล้านปี โหนกที่เป็นลักษณะวิวัฒนาการพิเศษของพวกมันก็กำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่อตัวเอง โหนกเหล่านั้นถูกเรียกว่า “งาเลือด” ที่มีมูลค่าสูงในตลาดซื้อขายของป่า ทำให้มีนกชนหินถูกล่าไม่ต่ำกว่า 6,000 ตัวเมื่อปี ค.ศ.2013 ทำให้ IUCN องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้ปรับสถานภาพการอนุรักษ์นกชนหินแบบก้าวกระโดดจาก ใกล้ถูกคุกคาม (near threatened) เป็น ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) ซึ่งแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นกเงือกเขามีหน้าที่เขาอยู่แล้ว คือหน้าที่เขาปลูกป่า ควบคุมประชากรแมลงเล็กๆ นอกจากนั้น เขามีความสวยงาม ก็อยากจะวินวอนนะครับว่า เขาเป็นเพื่อนร่วมโลกของคนตัวหนึ่ง เป็นมิตร และเป็นผู้สร้างป่าให้กับเรา” ปรีดาย้ำถึงสภาพปัญหาที่มีในปัจจุบัน 

การผูกสัมพันธ์ระหว่างนกเงือกกับระบบนิเวศที่แนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกันนั้น อาจจะไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์หรือรักแท้อย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่มันยังแสดงออกถึงความเอาใจใส่ หรือสำนักถึงธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวคนเราด้วย

1581493209100