ดับเบิลยูทีโอ เผยรายงาน พบกีดกันการค้าสูงรอบ 7 ปี
ดับเบิลยูทีโอชี้การค้าโลกตึงเครียดทำสมาชิกงัด มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น 27% ส่วนมูลค่า7.5 แสนล้านดอลลาร์สูงสุดรอบ 7 ปี พบ สหรัฐ อินเดีย จีน ใช้มาตรการสูงสุด
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป) ได้เผยแพร่รายงานติดตามสภาวะการค้า (TradeMonitoring Report) โดยระบุว่า การค้าโลกทวีความตึงเครียดมากขึ้น เพราะในรอบ 1 ปี หรือตั้งแต่เดือนต.ค.2561-ต.ค.2562 สมาชิกดับบลิวทีโอใช้มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น ครอบคลุมมูลค่าการค้าราว 750,000 ล้านดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่ปี2555 หรือ ในรอบ 7 ปีและเพิ่มขึ้นถึง 27% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 588,300 ล้านดอลลาร์ สร้างความไม่แน่นอนต่อการค้าระหว่างประเทศ และฉุดเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดการณ์ว่า ปี 2563 การค้าโลกจะขยายตัวเพียง 2.7% จากเดิมคาดขยายตัว 3%
ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา สมาชิกใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น 102 มาตรการ โดยในด้านการนำเข้า มีการใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรมากที่สุด ตามด้วยการห้ามนำเข้า การใช้พิธีการศุลกากรที่เข้มงวด และการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ส่วนด้านการส่งออก ส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บภาษีสินค้าส่งออก การกำหนดเงื่อนไขและใบอนุญาตส่งออก การจำกัดปริมาณเป็นต้น โดยสินค้าที่ถูกกีดกันทางการค้ามากที่สุด ได้แก่ แร่และเชื้อเพลิง เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และโลหะมีค่า
โดยนับตั้งแต่ดับเบิลยูทีโอได้เริ่มจัดทำรายงานดังกล่าวเมื่อปี 2552 จนถึงปัจจุบัน พบว่า การนำเข้าของโลกสัดส่วน 7.5% ของการนำเข้าของโลกทั้งหมดได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการนำเข้า และหากนับถึงเดือนต.ค.62 มูลค่าผลกระทบจะสูงถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตามมาตรการเยียวยาทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สมาชิกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้า โดยในรอบ 1 ปี สมาชิกเปิดการไต่สวนเฉลี่ย23ครั้งต่อเดือน ครอบคลุมการค้ามูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ แต่มีการยุติการไต่สวนและยกเลิกใช้มาตรการเอดีเฉลี่ย 16 ครั้งต่อเดือน ครอบคลุมการค้ามูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สำหรับสมาชิกที่ใช้มาตรการเอดีมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐ อินเดียและจีน สินค้าที่ถูกไต่สวนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ส่วนสมาชิกที่ถูกใช้มาตรการเอดี มากที่สุด คือ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ญี่ปุ่น และไทย
นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) ด้วย โดยสหรัฐ แคนาดา และสหภาพยุโรป (อียู) ใช้มาตรการดังกล่าวมากที่สุด โดยสินค้าที่ถูกเปิดไต่สวนส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะแก้ว/หิน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์แร่ และผัก สมาชิกที่ถูกไต่สวนมากที่สุดยังคงเป็นจีน รองลงมา ได้แก่ อินเดีย และตุรกี ในส่วนของมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) มาดากัสการ์เป็นประเทศที่ใช้มากที่สุด โดยสินค้าที่ถูกไต่สวนเพื่อใช้เซฟการ์ด ได้แก่ โลหะหิน/ปูนปลาสเตอร์ สิ่งทอ อาหาร และเครื่องจักร
ขณะเดียวกัน สมาชิกใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มขึ้น 120 มาตรการ เช่น การลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าและส่งออก และการผ่อนปรนพิธีการศุลกากรให้ยืดหยุ่นขึ้น ครอบคลุมการค้ามูลค่า 540,000 ล้านดอลลาร์ ในกลุ่มสินค้าได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนทองแดง และยานยนต์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าประเทศใหญ่ๆ ใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นการฉุดรั้งการค้าระหว่างประเทศ และมีส่วนทำให้การค้าโลกไม่ขยายตัว