'เอไอเอส' กวาดเรียบ! ยึดคลื่น 5G

 'เอไอเอส' กวาดเรียบ! ยึดคลื่น 5G

เอไอเอสกินรวบประมูล '5จี' กวาด 3 คลื่น 23 ใบอนุญาต เคาะราคาครึ่งวัน รัฐกวาดรายได้ทะลุแสนล้าน ด้าน 'กสท ทีโอที' พลิกประวัติศาสตร์คว้าคลื่นครองสำเร็จ

กสทช.ยิ้มไม่หุบประมูล 5จี เงินเข้ารัฐ 100,521 ล้านบาท ขายออก 48 ใบอนุญาต "เอไอเอส" ค่ายเดียวคว้าคลื่น 23 ไลเซ่นส์ ครองคลื่นในมือทะลุ 1,450 เมกะเฮิรตซ์ ด้านกลุ่มทรูฯ ตามมาที่ 1,020 เมก ขณะที่ดีแทคเคาะราคาแบบเพียงพอเอาคลื่นไปน้อยที่สุด 2 ใบอนุญาต ส่วนรัฐวิสาหกิจน้องใหม่กสทฯ-ทีโอที ได้คลื่นสมใจ ชงเข้าบอร์ด กสทช.เคาะรับรองผลประมูล 19 ก.พ. พร้อมออกใบอนุญาตได้ทันที ลุ้น "เอไอเอส" รายแรกยึดหัวหาดเปิดบริการ ฟุ้งที่ผ่านมาอุตฯ โทรคมทำเงินได้ 524,000 ล้านบาท

จบลงไปอย่างรวดเร็ว สำหรับการประมูลคลื่น 5จี ที่ กสทช.ประมูลแบบมัลติแบนด์ คือ ประมูลรวดเดียว 4 ย่านความถี่ เริ่มจากคลื่น 700 ไล่มาคลื่น 2600 และปิดท้ายด้วยคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ บรรยากาศประมูลช่วงเช้าวานนี้ (16 ก.พ.) เต็มไปด้วยความคึกคัก โอเปอเรเตอร์แต่ละรายขนกองเชียร์มาให้กำลังใจก่อนเข้าห้องประมูลที่สำนักงาน กสทช.จัดเตรียมไว้ ผลประมูลรอบเช้า คลื่น 700 กลายเป็นคลื่นที่เคาะราคาดุเดือดที่สุดถึง 20 รอบ ราคาสุดท้ายมากกว่าราคาเริ่มต้นถึง 95% ต่อมาคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ จบลงแบบถนอมน้ำใจเคาะแค่สองรอบเท่านั้น

1581911960100

วานนี้ (16 ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เริ่มขั้นตอนการจัดประมูลคลื่นความถี่ 5จี ที่สำนักงาน กสทช.กำหนดประมูลขึ้น การประมูล 5จี ครั้งนี้ ประกอบด้วยคลื่นจำนวน 4 ย่านความถี่ได้แก่ 700 เมกเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ แต่จากการเปิดเอกสารขอเข้าประมูลพบว่าคลื่น 1800 ไม่มีผู้เข้าประมูล คงเหลือการประมูล 3 ย่านความถี่ เริ่มจากบริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี)​ ในเครือ ​บมจ.ทรู คอร์ปอ​เรชั่น​ประมูล 3 ย่าน คือ 700 กับ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์

บมจ.กสท โทรคมนาคม เข้าประมูล 2 ย่านความถี่ คือ 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น)​ ในเครือ ​บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เข้าประมูลเพียงย่านเดียว คือ 26 กิกะเฮิรตซ์ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิว​เอ็น) ในเครือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เข้าประมูล 3 ย่าน 700 ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ส่วน บมจ.ทีโอที เข้าประมูลเพียงย่านเดียวในคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ 

  • ประมูลดุ เงินเข้ารัฐทะลุแสนล.

โดยผลการประมูลทั้ง 4 ย่านความถี่รวม 52 ใบอนุญาต ซึ่งครั้งนี้ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลในย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จึงเหลือเพียง 3 ย่านความถี่ คือ 700 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ รวม 49 ใบอนุญาต มีการประมูลไปทั้งสิ้น 48 ใบอนุญาต รวมทำเงินเข้ารัฐได้มากกว่า 100,521 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยที่ผ่านมาจากการประมูลคลื่นความถี่ไป 4 ครั้ง ทำเงินเข้ารัฐไปแล้ว 524,713 ล้านบาท

ทั้งนี้ เอไอเอส คว้าคลื่น 5จี ทั้ง 3 ย่านความถี่ไปได้มากที่สุด ได้แก่ คลื่น 700 คลื่น 2600 และ 26 กิกะเฮิรตช์ รวมทั้งหมด 23 ใบอนุญาต ครอบครองคลื่นความถี่มากสุด 1,450 เมกะเฮิรตช์ 

การประมูล 5จี เริ่มที่คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 15 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาทรวมราคา 26,376 ล้านบาท ในคลื่นนี้มีผู้เข้าประมูล 3 ได้แก่ “เอดับบลิวเอ็น ทียูซี และกสทฯ” ซึ่งการประมูลเริ่มตั้งแต่ 9.30 น. 

ในรอบแรกมีการเสนอความต้องการมากถึง 6 ชุดความถี่ มากกว่าจำนวนที่มีจัดสรรถึงเท่าตัว ต่อมาในรอบที่ 2 มีการเสนอความต้องการลดเหลือ 4 ชุดมากกว่าจำนวนที่มีจัดสรร 1 ชุด โดยจากรอบที่ 2 เคาะราคายืนที่ 4 ชุดมาตลอด เวลาผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง จนมาถึงรอบที่ 19 มีการเสนอความต้องการเท่ากับจำนวนที่จัดสรรแล้วที่ 3 ชุด สรุปจบในราคา 17,153 ล้านบาท รวมราคาที่เข้ารัฐ 51,460 ล้านบาท โดยผู้ชนะในคลื่นนี้คือ เอดับบลิวเอ็น จำนวน 1 ชุด ได้รับคลื่น 5 เมกะเฮิรตซ์ และกสทฯได้รับไป 2 ชุด รับคลื่น 10 เมกะเฮิรตซ์

  • คลื่น 2600-26 ไม่ปังตามคาด

ต่อมาการประมูลคลื่น 5จี ในย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เริ่มประมูลในเวลา 12.50 น. ในย่าน 2600 นี้ มีจำนวน 19 ชุด ชุดละ 10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 190 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท รวมราคา 35,378 ล้านบาท ในคลื่นนี้มีผู้เข้าประมูล 3 ได้แก่ "เอดับบลิวเอ็น ทียูซี และกสทฯ" โดยในคลื่นนี้เป็นคลื่นย่านกลาง (มิด แบนด์) เป็นคลื่นที่เหมาะกับการทำ 5จีมากที่สุด เดิมประเมินว่าจะมีการแข่งขันกันดุเดือดแต่ผลกลับไม่คึกคักใช้เวลาประมูลเพียง 2 รอบ 

โดยรอบแรก มีผู้เสนอความต้องการรวมกัน 25 ชุดมากกว่าที่จัดสรรถึง 6 ชุดที่มีให้ 19 ชุด กำหนดเพดานประมูลได้ไม่เกินคนละ 10 ชุดต่อมาในรอบที่ 2 มีการเสนอความต้องการลดเหลือ 19 ชุดเท่ากับที่มีการจัดสรร จบการประมูลเพียงแค่เวลา 40 นาที โดยราคาต่อชุด 1,956 ล้านบาท รวมทำเงินเข้ารัฐได้ 37,434 ล้านบาท โดยผู้ชนะในคลื่นนี้คือ เอดับบลิวเอ็นจำนวน 10 ชุด ได้รับคลื่น 100 เมกะเฮิรตซ์เต็มเพดานที่ให้ถือครอง และ ทียูซีจำนวน 9 ชุด ได้รับคลื่น 90 เมกะเฮิรตซ์ 

และสุดท้ายในคลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ เปิดให้มีการจัดสรร จำนวน 27 ชุด ชุดละ 100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 2700 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคา 22 ล้านบาท รวม 11,421 ล้านบาท โดยในคลื่นนี้มีผู้เข้าร่วมประมูลรวม 4 ราย ได้แก่ เอดับบลิวเอ็น ทียูซี ดีทีเอ็น และทีโอที โดยเริ่มประมูลในเวลา 14.30 น.และจบในรอบแรกรอบเดียว จากมีผู้เสนอความต้องการ 26 ชุด ทำเงินเข้ารัฐ 11,627 ล้านบาท โดยผู้ชนะในคลื่นนี้คือ เอดับบลิวเอ็นจำนวน 12 ชุด ได้รับคลื่น 1200 เมกะเฮิรตซ์ เต็มเพดานที่ให้ถือครอง ทียูซีจำนวน 8 ชุดได้รับคลื่น 800 เมกะเฮิรตซ์ ทีโอทีจำนวน 4 ชุดได้รับคลื่น 400 เมกะเฮิรตซ์ และสุดท้ายดีทีเอ็นจำนวน 2 ชุด จำนวน 200 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งน้อยที่สุดในครั้งนี้ 

  • เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ประเทศไทยเปิดให้บริการระบบ 3จี ล่าช้าถึง 8 ปี ขณะที่ ระบบ 4จี ล่าช้าถึง 4 ปี ดังนั้น การขับเคลื่อนให้เกิด 5จี จึงต้องพยายาม​ดำเนินการโดยเร็ว ทั้งนี้ การขับเคลื่อน 5จี จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 17,328,000 ล้านบาท จากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ 1,983 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 624.62 ล้านบาท, ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 317.86 ล้านบาท และภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 229.03 ล้านบาท เป็นต้น 

ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5จี จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 332,619 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 476,062 ล้านบาท

โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะนำผลการประมูลเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการ (บอร์ด) อย่างเป็นทางการ เพื่อลงมติรับรองผลจากนั้น หากผู้ชนะประมูลรายใดต้องการชำระเงินประมูลในงวดแรกคือ 10% ของราคาที่ประมูลได้สามารถมาชำระได้ 

  • "เอไอเอส" รวยยืนหนึ่ง

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสพร้อมให้บริการ 5จี โดยเอไอเอส ประมูลได้ใบอนุญาต ทั้ง 3 คลื่นความถี่ ซึ่งเอไอเอสยังคงยืนหยัดรักษาตำแหน่งผู้นำอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมที่ถือครองคลื่นความถี่ในการให้บริการ 4จี และ 5จี มากที่สุดในประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,450 เมกะเฮิรตซ์ พร้อมประกาศเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายที่ดีที่สุดเป็นรายแรก โดยเอไอเอสต้องชำระเงินประมูล 42,060 ล้านบาท 

  • รสก.สร้างประวัติศาสตร์

พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ กล่าวว่า การคว้าคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 10X2 เมกะเฮิรตซ์รวมต้องชำระเงิน 34,306 ล้านบาท ในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญและบริษัทเตรียมพร้อมแนวทางการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ใหม่ทันทีที่ได้รับใบอนุญาต 

โดยคลื่น 700 ที่เป็นย่านความถี่ต่ำจะขยายเครือข่าย 4จี และ5จี ให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงเพิ่มมากขึ้น และยังเพิ่มขนาดความจุให้ลูกค้าสามารถใช้งานด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ทั้งนี้การขยายพื้นที่ให้บริการบนคลื่น 700 สามารถดำเนินการได้รวดเร็วจากเสาโทรคมนาคมที่มีอยู่เติมกว่า 20,000 ต้น 

นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการ ทีโอที กล่าวว่า การเป็นผู้ชนะประมูล 5จีย่านความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์จำนวน 4 ชุด โดยชนะประมูลในราคา 1,795 ล้านบาท ซึ่งทีโอทีจะนำมาพัฒนาเพื่อบริการสาธารณประโยชน์ต่อสังคมในพื้นที่ห่างไกล

  • ดีแทคเชื่อต่อยอดบริการ

นายชารัด เมห์โรทา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค ระบุว่า การประมูลคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์จำนวน 2 ชุดซึ่งเป็นคลื่นที่เหมาะในการใช้งานความเร็วสูงสุดเพื่อรับส่งข้อมูล และสามารถเพิ่มความจุของช่องสัญญาณสำหรับการรองรับนวัตกรรม 5จี ต่างๆ

  • กลุ่มทรูฯย้ำเร็วสุดแรงสุด

นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กลุ่มทรูฯ กล่าวว่า การชนะการประมูลครั้งนี้ในย่าน 2600 และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ย้ำภาพเครือข่ายที่เร็วแรงสุด ครบทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำและย่านความถี่สูงที่ครอบคลุมกับทุกรูปแบบการใช้งาน ประกาศพร้อมแล้วเครือข่าย 5จี ที่ดีที่สุด เพื่อคนไทยเป็นที่หนึ่งไปด้วยกัน