'ปิยบุตร' โพสต์ ขอทำงานเหมือนวันสุดท้าย มั่นใจไม่ผิดคดีกู้เงิน แต่อำนาจอยู่ที่ศาล

'ปิยบุตร' โพสต์ ขอทำงานเหมือนวันสุดท้าย มั่นใจไม่ผิดคดีกู้เงิน แต่อำนาจอยู่ที่ศาล

"ปิยบุตร" โพสต์ ขอทำงานเหมือนวันสุดท้าย มั่นใจอนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบ เพราะไม่มีเหตุตามกฎหมายใดเลยที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ แต่ท้ายที่สุดอำนาจตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 63 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล "ทำทุกวันให้เสมือนเป็นวันสุดท้าย" โดยระบุว่า...

ทำทุกวันให้เสมือนเป็นวันสุดท้าย

"ทว่า Sisyphe ได้สอนเราถึงความซื่อตรงอันสูงยิ่งในการปฏิเสธพระเจ้า และการผลักดันก้อนหิน เขาอีกนั่นแหละที่เป็นผู้ตัดสินว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำนั้นดีแล้ว ดังนั้น โลกอันปราศจากเจ้านายของเขา จึงไม่แห้งผาก และไม่ได้ไร้ประโยชน์ ทุกชิ้นส่วนของก้อนหินนี้ ทุกชิ้นแร่ของภูเขาลูกนี้ คือ เขาแต่เพียงผู้เดียวที่นำมันมาหลอมรวมเป็นโลก 
การต่อสู้เพื่อไปให้ถึงยอด ก็เพียงพอที่จะเติมเต็มหัวใจของมนุษย์ให้อิ่มเอม

ดังนั้น เราต้องจินตนาการได้ถึง Sisyphe ผู้เปี่ยมสุข"

Albert Camus, Le Mythe de Sisyphe, 1942.

จนกระทั่งถึงวันนี้ ผมยังมั่นใจว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบ เพราะไม่ว่าจะพิจารณาจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ไม่มีเหตุตามกฎหมายใดเลยที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ได้

• ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด ข้อใด ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองกู้เงิน หาก พ.ร.ป.พรรคการเมืองต้องการมิให้พรรคการเมืองกู้เงิน ก็ต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองทราบล่วงหน้า 
• ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่กู้เงิน 
• พรรคการเมืองหลากหลายประเทศก็กู้เงิน 
• “เงินกู้” มิใช่ “รายได้” แต่เป็น “หนี้สิน” จึงไม่เข้าข้อจำกัดตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดที่มาของรายได้ของพรรคการเมือง 
• “เงินกู้” มิใช่ “เงินบริจาค” และ มิใช่ “ประโยชน์อื่นใด” พรรคอนาคตใหม่มีสัญญาเงินกู้ชัดเจน เมื่อกู้มาแล้วเป็นหนี้สิน พรรคต้องชำระหนี้คืน และได้ทยอยชำระหนี้คืนไปบางส่วนแล้ว 
• “เงินกู้” มิใช่ “เงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” มิใช่ “เงินสกปรก” มิใช่ “เงินจากการทำผิดกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมเน้นย้ำอยู่เสมอว่า “ปากกาไม่ได้อยู่ที่ผม” แต่ “ปากกาอยู่ในมือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น ในท้ายที่สุด การยุบพรรคอนาคตใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงอยู่ที่อำนาจตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ

และด้วยปรากฏการณ์ “ยุบพรรค” ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ก็ย่อมทำให้คนจำนวนมากคาดการณ์ไปต่างๆนานาถึงชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ที่อยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ

สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) เคยบอกไว้ว่า “ผมมองกระจกทุกเช้าและถามตัวเองว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต ผมยังจะทำสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้หรือเปล่า และเมื่อไรที่คำตอบคือไม่ ผมรู้ทันทีว่าผมต้องเปลี่ยนแปลง”

หากเราตระหนักว่า ในแต่ละวัน อาจเป็นวันสุดท้าย แล้วเรายังคงเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำในแต่ละวันนั้นถูกต้อง สอดคล้องกับมโนธรรมสำนึก และเป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เราก็จำต้องเร่งลงมือทำสิ่งเหล่านั้น

ทำทุกวันให้เสมือนเป็นวันสุดท้าย

นับตั้งแต่เข้าสู่ปีใหม่ ผมเร่งทำงานในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนักหน่วงเต็มที่ ทั้งการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร และงานในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

ผมได้อภิปรายในวาระที่สองของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลปกครอง

ผมได้อภิปรายแถลงญัตติแสดงถึงเหตุผลความจำเป็นของการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันมิให้รัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ผมได้อภิปรายไว้อาลัยและเอ่ยชื่อผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมที่โคราช เพื่อสร้างธรรมเนียมสอดคล้องกับสากลในการระลึกและให้การยอมรับนับถือต่อเหยื่อผู้เสียชีวิต ในพื้นที่สำคัญอย่างสภาผู้แทนราษฎร

ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ผมได้เสนอรายงานที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ เรื่อง ผลกระทบของภาษีที่ดิน เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และสภาฯได้ให้ความเห็นชอบ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

คณะกรรมาธิการฯของเรา ยังได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนหลายเรื่อง โดยเชิญผู้ร้องและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและตอบข้อซักถาม ได้แก่ การเก็บดีเอ็นเอของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, การจำกัดเสรีภาพในการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”, ข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ขับขี่รถสองล้อ, ปัญหาสถานะที่ราชพัสุดในเกาะเต่า, ปัญหาของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, การรับข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย ฯลฯ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรประจำสัปดาห์นี้ ในวันพุธที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2563 ผมมีภารกิจหลายเรื่อง

1.เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการฯ อีกสองเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

เรื่องแรก การทบทวนกระบวนการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ซึ่งปัจจุบัน ประกาศ คสช. ได้ยกเลิกอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนนี้ คงเหลือให้เป็นอำนาจของตำรวจ

เรื่องที่สอง ผลกระทบของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. : ศึกษากรณีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการจำกัดเสรีภาพสื่อ

ภายหลังที่สภาผู้แทนราษฎร “นับคะแนนใหม่” ทำให้ไม่สามารถตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ “มาตรา 44” ได้ ผมจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งในคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ เพื่อศึกษาเรื่องเหล่านี้โดยตรง ซึ่งประเด็นปัญหาของ “มาตรา 44” มีหลากหลายประเด็น จำเป็นต้องทำรายงานออกมาหลายฉบับ นี่คือรายงานฉบับแรก

2.อภิปรายสรุปญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางป้องกันมิให้รัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต ผมตั้งใจใช้โอกาสนี้อภิปราย “ทิ้งทวน” เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของสภาผู้แทนราษฎรไว้

3.เชิญ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มาชี้แจงและตอบข้อซักถามกับคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ในกรณีเรื่องแนวทางการจัดการชุมนุมสาธารณะ และกรณี “วิ่งไล่ลุง”

4.เชิญ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มาชี้แจงและตอบข้อซักถามกับคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ เรื่อง ปัญหาทางกฎหมายกรณีการประกอบธุรกิจของกองทัพ และการทำธุรกิจกันในค่ายทหาร

5.ต้อนรับและสนทนาแลกเปลี่ยนกับประธานกรรมาธิการคมนาคม และอดีต รมต คมนาคม และคณะ จากประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี

6.ประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งสัปดาห์นี้จะเข้าเรื่องสำคัญ นั่นคือ หมวดว่าด้วยรัฐสภา

ในตารางการทำงานของผม ยังกำหนดไว้อีกหลายเรื่องในสัปดาห์ต่อๆ ไป เดือนต่อๆ ไป

• การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
• การเสนอร่างพระราชบัญญัติอีกหลายเรื่อง เช่น เพิ่ม ป.อาญา มาตรา 113/1, แก้ไขกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, กฎหมาย anti-slapp, กฎหมายยกเลิกโทษอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท, แก้ไขกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, แก้ไขกฎหมายชุมนุมสาธารณะ, แก้ไข พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เป็นต้น 
• การจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบของประกาศ คสช คำสั่ง คสช. การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในทุกมิติ
• การพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 
• การจัดเวทีเสวนาใหญ่เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเชิญนักวิชาการ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน จากในประเทศและต่างประเทศ 
• การจัดเวที “คณะกรรมาธิการฯพบประชาชน” ในหลายจังหวัด 
• การนำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ไปศึกษาดูงานที่ประเทศรวันดา เพื่อหาความรู้กรณีการปรองดองสมานฉันท์ภายหลังการฆ่าล้างเผ่านพันธุ์, ไปศึกษาดูงานที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหาความรู้จากศาลรัฐธรรมนูญของเขา ที่เริ่มต้นมาพร้อมเรา แต่เดี๋ยวนี้พัฒนาไปไกลกว่าเรามาก และไปดูการแสวงหาความปรองดองและสันติภาพที่อาเจะห์ 
• การนำคณะกรรมาธิการฯเข้าพบประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะ ประธานศาลฎีกาและคณะ ประธานศาลปกครองสูงสุดและคณะ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 
• การนำคณะกรรมาธิการฯเข้าดูสภาพเรือนจำ และเยี่ยม “นักโทษการเมือง” 
• การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย 
• ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ ผมจะได้ทำในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.นี้

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสถาบันการเมืองเพียงแห่งเดียวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

“ผู้แทนราษฎร” คือ ผู้ที่ใช้อำนาจของราษฎรแทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎร มีพันธกิจในการนำความต้องการของประชาชนมาทำให้เกิดผล

สำหรับผมแล้ว เวลาจะมากหรือน้อยเพียงใด เหลือเวลาอีกเท่าไร ไม่สำคัญ ขอเพียงเราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ และทำมันทุกวันเสมือนทุกวันเป็นวันสุดท้าย