ย้อนรอย 'เชฟโรเลต' ในไทย หลัง 'ผ่าตัดใหญ่' 5 ปีผ่านไป สุดท้ายก็ต้องหยุด!?

ย้อนรอย 'เชฟโรเลต' ในไทย หลัง 'ผ่าตัดใหญ่' 5 ปีผ่านไป สุดท้ายก็ต้องหยุด!?

นับถอยหลัง ประวัติศาสตร์ 20 ปี "เชฟโรเลต" ในประเทศไทย หลังผ่านการผ่าตัดครั้งใหญ่เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ท้ายที่สุดก็ยื้อไม่ไหว จำโบกมือลาด้วยความจำยอม!

เรียกว่าเป็นข่าวครึกโครม สะเทือนแวดวงยานยนต์ไทย หลังจากวันนี้ (17 ก.พ.) เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ร่อนจดหมายแถลงถึงแผนการ "ยุติการจัดจำหน่ายรถยนต์ เชฟโรเลตในตลาดประเทศไทย" ภายในสิ้นปี 2563

โดยทางจีเอ็มยืนยันว่า ถึงหยุดทำตลาด แต่ก็จะไม่ 'เท' ลูกค้าเก่าอย่างแน่นอน โดยจะยังคงให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าเชฟโรเลต อาทิ การรับประกันคุณภาพรถยนต์ การซ่อมบำรุง และการบริการต่างๆ ผ่านเครือข่ายของศูนย์บริการ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลตทั่วประเทศ

พร้อมกันนี้ นายแอนดี้ ดันสแตน ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจำหน่าย จีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ ได้เผยถึงสาเหตุของการถอนเชฟโรเลตออกจากตลาดรถยนต์ประเทศไทยว่า เป็นการตัดสินใจของทาง "จีเอ็ม" หลังจากที่มีการขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ในจังหวัดระยองให้แก่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ส

“จีเอ็มทราบดีถึงผลกระทบที่จะมีต่อพนักงานและคู่ค้าของเราจากการตัดสินใจครั้งนี้ เราให้คำมั่นที่จะปฏิบัติต่อพนักงาน คู่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราด้วยความเคารพตลอดระยะเวลา การปรับเปลี่ยนนี้” นายแอนดี้ กล่าว

และยอมรับว่า ที่ผ่านมา ทางจีเอ็มได้ประเมินทางเลือกหลายทางในการรักษาเชฟโรเลตไว้ในตลาดประเทศไทย แต่ที่สุดแล้วก็ต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่า

"หากไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทยแล้ว เชฟโรเลตก็ไม่อาจที่จะแข่งขันในตลาดรถยนต์ประเทศไทยได้เลย”

"หากไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทยแล้ว เชฟโรเลตก็ไม่อาจที่จะแข่งขันในตลาดรถยนต์ประเทศไทยได้เลย”

อันที่จริง ท่าทีการถอนตัวของเชฟโรเลตในประเทศไทยนี้ใช่ว่าจะไม่มีสัญญาณมาก่อน เพราะ ก่อนหน้านี้ แบรนด์ "เชฟโรเลต" ที่อยู่คู่ตลาดไทยมานาน 20 ปี ได้เคยผ่าตัดใหญ่มาแล้ว 1 ครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม : 'เชฟโรเลต' เลิกขายรถในไทย สิ้นปี 63'

ทั้งนี้ แบรนด์ "เชฟโรเลต" ได้เข้ามาทำตลาดในไทย โดยก่อตั้ง บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อ 1 ม.ค. 2543 และเริ่มจำหน่ายรถยนต์ภายใต้ชื่อและสัญลักษณ์ทางการค้า "เชฟโรเลต"

รถยนต์รุ่นแรกที่ เชฟโรเลต เซลส์ เปิดจำหน่ายและสร้างชื่อเสียงให้บริษัท คือ "ซาฟิร่า" ซึ่งถือเป็นการบุกเบิกตลาดรถยนต์อเนกประสงค์รายแรกของประเทศไทย ก่อนที่จะมีรุ่นอื่นๆ ตามมา คือ ครูซ, อาวีโอ, อาวีโอ ซีเอ็นจี, แคปติวา, โคโลราโด, เทรลเบลเซอร์ และโซนิค ฯลฯ 

เมื่อเดือนมีนาคม 2558 "จีเอ็ม" ได้เคยประกาศลดขนาดธุรกิจในไทย โดยสาระสำคัญของประกาศได้แก่ การปรับโครงสร้างองค์กรในประเทศไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกฝ่ายและเพิ่มบทบาทหน้าที่ให้แก่พนักงาน ตามโครงการพนักงานลาออกโดยสมัครใจ (Voluntary Separation Program) เป้าหมายคือ 30% ของจำนวนพนักงานโดยรวม ทั้งในส่วนสำนักงานและระดับปฏิบัติการ (salaried and hourly)

นอกจากนี้ก็จะหยุดจำหน่าย รถเก๋งรุ่นโซนิคและรถอเนกประสงค์เอ็มพีวี รุ่น สปิน เมื่อสิ้นสุดแผนการตลาดของรุ่นปีล่าสุด

ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศ จีเอ็มได้ประกาศยุติการผลิตรถที่ศูนย์การผลิตเบกาซีใกล้กับกรุงจาการ์ตา เมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. 2558 และปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็นบริษัทจัดจำหน่ายในประเทศแทน

จากนโยบายทั้งลดและถอนโครงการในครั้งนั้น ทำให้ ผู้บริหารของ เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ต้องเดินสายพบปะดีลเลอร์ ทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจร่วมกับจีเอ็มต่อไป

โดยเฉพาะความพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า การปรับโครงสร้างดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่า จีเอ็มจะถอนตัว แต่เป็นการย้ำว่าจีเอ็มควรจะทำในสิ่งที่แข็งแกร่งอยู่แล้วโดยเฉพาะ เชฟโรเลต ขึ้นชื่อในเรื่องรถเอสยูวีและรถกระบะ ส่วนการหยุดขายรถเก๋งบางรุ่น ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากปกติ ที่รถหมดรุ่นก็เปลี่ยนไปเป็นรุ่นใหม่

แต่ดูเหมือนว่า การผ่าตัดใหญ่ครั้งนั้นจะไม่เป็นผล เพราะผ่านมาเกือบ 5 ปีเต็ม สุดท้ายก็มาถึง "วันบอกลา" อย่างเป็นทางการ ด้วยการสั่งหยุดจัดจำหน่ายรถยนต์ เชฟโรเลตในตลาดประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563 ปล่อยให้ "อเมริกันแบรนด์" รายนี้กลายเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์คนรักรถในประเทศไทย

..จนกว่าจะพบกันใหม่!

หมายเหตุ - ข้อมูลส่วนหนึ่งจากจากบทความ "ผ่าตัดใหญ่'เชฟโรเลต'เหตุภายนอกหรือแผลภายใน" เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (9 มี.ค.2558)