‘ไพร์มโรด’ หาช่องซื้อกิจการโรงไฟฟ้า
“ไพร์ม โรด เพาเวอร์” คาดรายได้ปีนี้โตกว่า 30-40% รับอานิสงส์งานใหม่ธุรกิจก่อสร้างโซลาร์รูฟราว 250-300 ล้านบาท ตั้งเป้าโกยกำลังผลิตไฟฟ้าภายใน4 ปีข้างหน้าแตะ 1,000 เมกะวัตต์ แย้มอยู่ระหว่างเจรจา M&A โรงไฟฟ้าหลายรายคาดได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
นายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIME เปิดเผยว่าบริษัทคาดว่ารายได้รวมปี 2563 จะเติบโตกว่า 30-40% จากปีก่อน เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่คืองานบริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปครบวงจร (EPC) เข้ามาเป็นปีแรก ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าราว 250-300 ล้านบาท ประกอบกับด้านธุรกิจโรงไฟฟ้าคาดว่าปีนี้จะเติบโตราว 7% จากปี 2562 ที่คาดจะมีรายได้ประมาณ 600 ล้านบาท หลังจะมีโรงไฟฟ้าใหม่พร้อมจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เพิ่มปีนี้อีกจำนวน 12 เมกะวัตต์ (MW)
ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าฟาร์ม) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดรวม 287 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟแล้วประมาณ 179 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้างอีกจำนวน 108 เมกะวัตต์ โดยจำนวนโรงไฟฟ้าทั้งหมดนั้นกระจายอยู่ในประเทศไทยจำนวน 132.3 เมกะวัตต์,ประเทศญี่ปุ่นจำนวน 68.2 เมกะวัตต์,ประเทศไต้หวันจำนวน 8.5 เมกะวัตต์ รวมถึงล่าสุดบริษัทยังเตรียมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์มที่ประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 78 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโครงการโซล่าฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกัมพูชา โดยโครงการนี้มีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเซ็นสัญญาขายไฟ (PPA) กับทางการกัมพูชาได้ในช่วงกลางเดือนมี.ค.นี้
ส่วนแผนธุรกิจในระยะยาว บริษัทยังคงเดินหน้าขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าภายใน 4 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2566) จะขยายพอร์ตการผลิตไฟฟ้าให้แตะระดับ 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 287 เมกะวัตต์ โดยจะมาจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศบริษัทจะเน้นที่ประเทศไต้หวัน,เวียดนาม,สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นหลัก ส่วนในประเทศบริษัทเตรียมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของกระทรวงพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเร็วๆนี้ และบริษัทมีความพร้อมที่จะลงทุนในโครงการ Quick Win ในปีนี้อีกด้วย
ส่วนด้านแหล่งเงินทุนนั้น บริษัทคาดว่าจะใช้เงินทุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทที่เข้ามาในแต่ละปี ประกอบกับบริษัทยังสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงิน (โปรเจคไฟแนนซ์) มาลงทุนในแต่ละโครงการได้ รวมถึงอาจใช้เครื่องมือทางการเงินในตลาดทุนที่เพิ่มเติมได้ ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่าเพียงพอตามเป้าหมายใน 4 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ยอมรับว่าปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจโรงไฟฟ้ากับผู้ประกอบการจำนวนหลายราย ซึ่งมีทั้งโครงการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของโครงการในประเทศมีผู้มาเสนอขายโรงไฟฟ้ามากกว่า 100 เมกะวัตต์ อาทิ โรงไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป, โรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งคาดหวังว่าอาจมีโอกาสเห็นความชัดเจนภายในเร็วๆ นี้