ศาลรธน. วินิจฉัย ป.อาญามาตรา 301 หญิงทำแท้งผิดกฎหมาย โทษจำคุก-ปรับ ขัดรธน. ส่วนมาตรา 305 แพทย์ทำแท้งเพราะมีอาการป่วย-ตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน ไม่ขัดรธน. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปรับปรุงให้สอดรับกับสภาพการณ์
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณี น.ส.ศรีสมัย เชื้อชาติ ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ซึ่งบัญญัติว่า หญิงใดทำให้ตนเอง หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27, 28 หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าการกระทำความผิดในมาตรา 301 และ 302 เป็นการกระทำของนายแพทย์โดยจำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือหญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา มาตรา 276,277,282,283,หรือ284 (ข่มขืนกระทำชำเรา ชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี อนาจาร ) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27,28,77 หรือไม่
ผลการพิจารณา โดยศาลได้นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติ โดยมีผลว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27,28 ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27,28,77 ส่วนประเด็นที่ว่าสมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมายหรือไม่ อย่างไรนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอาศัยอำนาจตาม พรป.ว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 74 กำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยของศาลในส่วนที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นมีผลเมื่อพ้น 360 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ น.ส.ศรีสมัย เชื้อชาติ เป็นแพทย์ในเครือข่ายแพทย์อาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามกฎหมาย และเปิดคลินิกศรีสมัยการแพทย์ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2561 เคยถูกตำรวจ สภ.หัวหิน บุกเข้าจับกุมเนื่องจากสงสัยว่าเปิดทำแท้งผิดกฎหมาย หลังพบว่ามีชายนำถุงดำใส่ศพเด็กทารก 4 ราย ไปทิ้งในถังขยะ แต่ น.ส.ศรีสมัย อ้างว่าได้รับอนุญาตจากสำนักอนามัยการเจริญพันธ์ ของกรมอนามัย ในการทำแท้ง และได้ทำถูกต้องตามระเบียบการทำแท้งของแพทยสภา โดยทำแท้งให้กับหญิงที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์ เนื่องจากถูกข่มขืน กระทำชำเรา เป็นเอดส์ หรือแม่เป็นเอดส์ ซึ่งต่อมา น.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ศาลมีคำวินิจฉัยในวันนี้ โดยอ้างถึงการที่ น.ส.ศรีสมัย ถูกจับกุมและถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 302 แต่ก่อนที่ศาลจะมีการพิจารณา น.ส.กฤตยา ได้มีการถอนคำร้องออกไปโดยอ้างว่าต้องการจะทำคำร้องให้สมบูรณ์มากกว่านี้ ซึ่งศาลจึงมีคำสั่งเมื่อ 17 ต.ค. 2561 ให้จำหน่ายคดี
ทั้งนี้ตามคำร้องเดิมของ น.ส.กฤตยา ระบุว่กฎหมายอาญา มาตรา 301 บัญญัติมุ่งลงโทษแต่เฉพาะหญิงที่มุ่งทำแท้งเป็นสำคัญ ทั้งที่การตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดจากการกระทำของหญิงเพียงฝ่ายเดียว แต่ชายที่มีสัมพันธ์กับหญิงต้องร่วมรับผิดและถูกลงโทษด้วย จึงเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวทำให้ชายและหญิงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และ 28 กำหนด
ส่วนกฎหมายอาญา มาตรา 305 ก็ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ ไม่เท่าทันเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ที่เน้นการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ แทนการใช้หัตถการทางการแพทย์ อีกทั้งยังมุ่งคุ้มครองเฉพาะการกระทำของแพทย์ ไม่ครอบคลุมบุคคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ให้บริการภายใต้การควบคุมของแพทย์ จึงไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญมาตรา 77 จึงควรมีการแก้ไขให้ครอบคลุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้อยู่ภายใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และมีข้อยกเว้นให้กระทำได้โดยไม่มีความผิด หากอายุครรภ์ของหญิงนั้นไม่ถึง 12 สัปดาห์ หรือการตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อจิตใจของหญิงนั้น หรือตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคทางพันธุกรรม