อนาคต 'ประสบการณ์' สำคัญกว่า 'ดีกรี'
โลกแห่งอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ได้อย่างแท้จริงว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ความไม่รู้ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้ไปด้วย และความเป็นอยู่ในอนาคตที่เป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งที่เคยทำอาจไม่ต้องทำ เช่น เรื่องการศุึกษา
โลกแห่งอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ได้อย่างแท้จริงว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ความไม่รู้ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้ไปด้วย ในโอกาสที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ครบรอบ 25ปี ได้จัดสัมนาใหญ่หัวข้อ International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success เพื่อนำเสนอมุมมองต่อการขับเคลื่อนผลิตภาพ ในส่วนของ High Skilled Workforce มีมุมมองที่ย้ำให้เห็นถึงแนวโน้มของแรงงานแห่งอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ
ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทักษะแรงงานในอนาคต ทำอย่างไรให้รอด” ในงานสัมมนาครบรอบ 25 ปีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ว่า จำนวนประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมีความเสี่ยงสูง ที่จะส่งผลต่อแรงงานของไทยในอนาคต ซึ่งปัญหานี้รัฐบาลทราบดีและพยายามแก้ไข แต่มีแนวโน้มที่จะไม่ประสบผลสำเร็จหลังพยายามรณรงค์ให้คนมีลูกมากขึ้นซ้ำยังไม่ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งคนรุ่นหนุ่มสาว วัยทำงานจะต้องแบกรับภาระหนี้สินและเลี้ยงดูคนสูงวัยมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีอัตรา 1 ต่อ 2.1 คน
ปัญหาดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับสังคมญี่ปุ่น ที่ใช้การแก้ไขปัญหาโดยเปิดให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน ซึ่งปัจจุบันไทยก็ดำเนินการอยู่แต่เปิดให้เฉพาะชนชั้นแรงงานที่ไม่มีฝีมือเข้ามา รวมทั้งยังสงวนสิทธิ์บางอาชีพ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องให้กับแรงงานงานไทย ส่งผลให้ไทยขาดแรงงานที่มีฝีมือ
นอกจากนี้เด็กรุ่นใหม่ที่โตมากับโทรศัพท์มือถือ ไอแพด แท็บเล็ต ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ เป็น AI ที่มีไอคิว ระดับ 85 ขึ้นไป ดังนั้นการเจริญเติบโตของเด็กรุ่นใหม่จึงรวดเร็วต่อยอดไปได้ในทันที สามารถค้นหน้าความรู้จากโลกโซเชียล แต่ยังมีข้อเสียคือขาดประสบการณ์จริง หรือEQ
ทิศทางการเติบโตของประชากรคนรุ่นใหม่ของไทย พบว่า ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ต้องการแรงงานที่มีประสบการณ์สามารถคิด ประดิษฐ์ สร้างนวัตกรรม โดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
ทางรอดของปัญหานี้ต้องเริ่มปรับกระบวนการศึกษา ให้เน้นการสร้าง EQ มากกว่า IQ มุ่งสร้างประสบการณ์ให้มากกว่าการแข่งขันว่าใครเรียนเก่งกว่า ทั้งนี้เพราะในอนาคต ภาคอุตสาหกรรม จะไม่สนใจวุฒิการศึกษา แต่จะวัดผลจากประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ มากกว่า
"ระบบการศึกษา ในขณะนี้เริ่มเปลี่ยนแล้ว โดยเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปมากขึ้น แรงงานรุ่นใหม่ จะไม่แบ่งชนชั้น เพศ อายุ อีกต่อไป เพราะทุกคนมีความรู้ด้าน IT เท่ากัน และไม่คิดว่า AI คือคู่แข่ง เพราะคนกลุ่มนี้โตมากับ AI และมีความสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นประโยชน์ได้มากกว่าคนรุ่นปัจจุบัน"
กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาสังคมสูงวัย ขาดแรงงานที่มีทักษะ และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกประเทศต้องเตรียมความพร้อมรองรับ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการติดอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลาง เพราะพัฒนาการทางเศรษฐกิจมีข้อจำกัด
แนวทางที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ คือต้องยกระดับผลิตภาพ ด้วยการใช้ทรัพยากรรอบๆตัวอย่างคุ้มค่าและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาค
อุตสหกรรมการผลิตที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องยกระดับทักษะความสามารถของแรงงาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และสร้างความพร้อมของปัจจัยแวดล้อม ในอุตสาหกรรมหลักที่ไทยมีความชำนาญ รวมไปถึงอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ผลักดันด้วย S-Curve, New S-Curve และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
“กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการยกระดับผลิตภาพ ส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีเป้าหมายในปี 2565 ต้องเพิ่มผลิตภาพอุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างน้อย 2.2 % ต่อปี”
ผ่านวิธีการมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรืออุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตอัจฉริยะ ซึ่งสถบันเพิ่มผลิตภาพแห่งชาติ จะเป็นกลไกหลักที่สำคัญ ในการช่วยขับเคลื่อนผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมไทย
สำหรับแนวโน้มประชากรในประเทศไทย นั้นสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 – 2583 ตามที่เสนอ โดยคาดการณ์ว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะเริ่มลดลงในอัตรา -0.2% ต่อปี ทำให้ในปี 2583 คาดประมาณว่าประเทศไทยจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน