'สุวิทย์' ห่วงไทยเผชิญความท้าทาย วิกฤติทับซ้อนฉุด 'ขีดสามารถแข่งขัน'
“สุวิทย์” ห่วงไทยเผชิญความท้าทาย-วิกฤติทับซ้อนฉุดขีดสามารถแข่งขัน แนะเร่งพัฒนาทุนมนุษย์ สศช.ชูเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มผลิตภาพการผลิตแรงงาน ก.พ.ร.เล็งดึงเอกชนร่วมทำงานกับภาครัฐเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการว่า ความท้าทายของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ การที่มีวิกฤติเชิงซ้อนที่เกิดขึ้นถือเป็น New Normal ใหม่ที่มักจะเกิดขึ้นหลายเรื่องพร้อมกัน
สำหรับในปัจจุบันมีทั้งเรื่องสงครามการค้า เรื่องปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 และเรื่องไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันในโลกปัจจุบันก็เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงรวดเร็ว (Disruption) ซึ่งมีความต่อเนื่องไปยังเรื่องอื่นที่ส่งผลกระทบต่อคนในสังคมวงกว้าง
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศไทยไม่สามารถดูเฉพาะเพียงแค่การประเมินความสามารถของสถาบันต่างๆ เช่น สถานบันสถาบันเพื่อการพัฒนาด้านการบริหารระหว่างประเทศ (IMD) และเวิลด์อีโคโนมิคฟอร์รัม (WEF) เท่านั้น แต่การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันตามยุทธศาสตร์ชาติต้องส่งเสริมใน 3 ด้าน คือ
1.การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเน้นการพัฒนาก้าวไปให้ทันโลกแต่ไม่ยืมจมูกโลกหายใจ 2.การเดินไปด้วยกันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเพื่อให้เกิดการพัฒนาโดยไม่สร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
3.การน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมาใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในประเทศ โดยการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันจากภายในชุมชนท้องถิ่นตามหลักการ “SEP for SDGs” ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้เศรษฐกิจที่เผชิญกับกระแสโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน
ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า การระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้รับการประเมินที่ดีขึ้นจากหน่วยงานที่มีการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั่วโลก โดยอันดับ IMD อยู่ที่อันดับ 25 จาก 63 ประเทศ และ WEF จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในอันดับ 40 จาก 141 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงต้องมีการแก้ไขจุดอ่อนและเสริมสร้างจุดแข็งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีอยู่ 5-6 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ด้านสุขภาพและอนามัยของประชาชน ด้านความสามารถของภาคธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรม ปัจจัยเชิงสถาบันและการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดเป็นด้านที่มีช่องว่างในการพัฒนาและต้องทำให้ดีขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขันในอนาคต
สำหรับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้มีการเร่งรัดการลงทุน ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบันมีวงเงินลงทุนรวมในระบบถนนและระบบรางกว่า 1.631 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 1.ระบบรางและรถไฟวงเงินรวม 6.43 แสนล้านบาท 2.การลงทุนด้านทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางพิเศษวงเงินรวม 2.16 แสนล้านบาท และ 3.การลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม.และปริมณฑลวงเงิน 7.7 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ได้แก่ สนามบินและท่าเรือ วงเงินรวม 4.61 แสนล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานและก่อสร้างท่าอากาศยานใหม่รวม 2.86 แสนล้านบาท และโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือวงเงินรวม 1.74 แสนล้านบาท ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนเติบโตได้ในอนาคตและเอื้อให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นนอกเหนือจากเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
รวมทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยจะเผชิญกับความท้าทายในเรื่องการลดลงของประชากรวัยแรงงานเนื่องจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และอัตราการเกิดลดลง โดยภายในปี 2583 ประชากรวัยแรงงานจะลดลงจาก 43.3 ล้านคนในปัจจุบันเหลือ 36.5 ล้านคน
โดยจำนวนแรงงานที่ลดลงทำให้อัตราสัดส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นจากแรงงาน 3.6 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน เป็นวัยแรงงาน 1.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานของประเทศให้ได้ปีละ 5% เพื่อชดเชยกับจำนวนแรงงานที่ลดลง
อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศภาครัฐมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาและลดอุปสรรคในการทำงานให้กับภาคเอกชนและหาทางในการช่วยลดต้นทุนหรือระยะเวลาในการรับบริการภาครัฐ เช่น การขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวที่เป็นแรงงานความสามารถสูง ซึ่ง ก.พ.ร.กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลในการออกแบบแอพพิเคชั่นให้แรงงานรายงานตัวผ่านช่องทางนี้ได้
นอกจากนี้แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชนภาครัฐต้องลดบทบาทและให้เอกชนเข้ามาทำงานในด้านต่างๆมากขึ้น เช่น การลดขยะในทะเลจะต้องมีการเก็บขยะในแม่น้ำลำคลอง การดักเก็บขยะที่ปากแม่น้ำก่อนจะออกไปยังทะเลก็สามารถจ้างเอกชนเข้ามาทำงานได้ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าการทำงานภาครัฐ