หุ้นไทยเสี่ยงภาวะ ‘ตลาดหมี’ ‘กูรู’ ชี้ประเมิน ‘จุดต่ำสุด’ ยาก
“กูรู” คาดตลาดหุ้นไทยเสี่ยงเข้าสู่ "ภาวะตลาดหมี" หลังดัชนีดิ่งเกือบ 20% จากช่วงพีค เหตุนักลงทุนแห่เทขายลดความเสี่ยง ประเมินจุดต่ำสุดยาก ด้าน "บล.ทรีนีตี้" คาดช่วง 1-3 เดือนนี้ดัชนีส่อแววขยับในกรอบ 1,430 -1,530 จุด
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะตลาดหมี หลังที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทย (SET INDEX) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มีแนวโน้มเข้าใกล้บริเวณ 1,480 จุด เป็นจุดที่ดัชนีลดลง 20% จากช่วงพีคที่ 1,852.67 จุด (ในวันที่ 27 ก.พ.2561) ปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะจุดต่ำสุดระดับไหน เพราะยังมีปัจจัยลบกดดันตลาดอยู่
ทั้งนี้ นักลงทุนเริ่มวิตกกังวล และไม่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้จึงเลือกออกจากตลาดไปก่อนเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ประกอบกับเชื่อว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนนักลงทุนระยะสั้นมากเกินไป ทำให้ในระยะยาวเต้องเร่งหากลุ่มนักลงทุนระยะยาวเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ยอมรับว่าในเชิงเทคนิค ตลาดหุ้นไทยเข้าข่ายเข้าสู่ภาวะตลาดหมีแล้ว เพราะดัชนีมีแนวโน้มปรับตัวลดลงถึงระดับ 20% จากช่วงพีค แต่ไม่ได้หมายความว่าตลาดจะปรับตัวลดลงไปมากกว่า ซึ่งไม่อยากให้นักลงทุนยึดโยงกับภาวะตรงนี้มากนัก
ประเมินว่าในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้านี้ดัชนีฯจะเคลื่อนไหวในกรอบบริเวณ 1,430 – 1,530 จุด ปัจจัยเสี่ยง คือกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อาจถูกปรับประมาณการลง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ที่ล่าช้า และปัญหาภัยแล้งในประเทศ ส่วนฟันด์โฟลว์ต่างชาติ คาดว่าในช่วง 1-3 เดือนนี้ จะยังไม่เห็นการไหลกลับเข้ามา และยังมีแนวโน้มไหลออกไปอย่างต่อเนื่อง จากทิศทางเงินบาทอ่อนค่า
ด้านกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้เทรดตามกรอบดัชนีฯที่ให้ไว้ ธีมหุ้นแนะนำมี 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. กลุ่มรีทและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จ่ายเงินปันผลทรงตัวในระดับสูง 2.กลุ่มโรงพยาบาลที่มักเป็นกลุ่มที่ Outperform ตลาดในช่วงที่เกิดโรคระบาด 3.กลุ่มสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร โดยเฉพาะบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่มีโอกาสซื้อสินทรัพย์ในราคาถูกช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และ4.กลุ่มอาหารที่ได้ประโยชน์จากราคาสัตว์บกปรับขึ้น รวมถึงเงินบาทอ่อนค่า