การศึกษาไทยยุค 2020 เรียนตามใจที่ชอบ อาชีพที่ใช่
จากปรากฏการการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาไทย ในปี 2020 ที่พบว่า หลายสถาบันปรับหลักสูตร เปลี่ยนแนวคิดใหม่ เพิ่มเติมรายวิชาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นแบ่งสายการเรียนมัธยมปลายที่ไม่จำกัดแค่เพียงสายวิทย์-คณิต, ศิลป์-คำนวณ และศิลป์-ภาษา หรือประกาศเป็นโรงเรียนปลอดการบ้านเพื่อให้นักเรียนมีเวลาทำกิจกรรมตามความสนใจ หรือระดับอุดมศึกษาที่เปิดโอกาสที่ให้เรียนก่อน เลือกคณะทีหลัง
- ร.ร.วัดบวรฯปลอดการบ้านดีจริง??
ก่อนหน้านี้เพจโรงเรียนวัดบวรนิเวศ (Wat Bowonniwet School)ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ในปีการศึกษา 2563 โรงเรียนวัดบวรนิเวศ : เป็นโรงเรียนปลอดการบ้านNo Homework School” ซึ่งต่อมาได้รับคำอธิบายจาก“เขษมชาติ อารีมิตร”ผู้อำนวยการโรงเรียนว่ามีแนวคิดในการนำไปสู่โรงเรียนปลอดการบ้าน มาจากประเทศฟินแลนด์โดยจะใช้แนวคิดนี้ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองตามทักษะและความสามารถของเด็กแต่ละคน ให้นักเรียนมีเวลาว่างมากขึ้นสำหรับทำกิจกรรมหลังเวลาเลิกเรียนจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2563 ส่วนการวัดผลและวัดผลโดยใช้วิธีประเมินตามสภาพจริงให้โอกาสนักเรียนสอบใหม่ และค้นคว้าทำงานที่เกี่ยวข้องมาส่ง หรือนำเสนอความรู้ความเข้าใจด้วยวิธีอื่นได้
อย่างไรก็ตามการปลอดการบ้านยังมีคำถามอยู่ว่าอาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งอาจจะส่งผลให้เกิดช่องว่างของการเรียนรู้ของเด็กหรือไม่“อำนาจ วิชยานุวัติ”เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขา กพฐ.) กล่าวว่าการประกาศลดการบ้านอย่างน้อยก็ไม่ทำให้เด็กเครียดจากการเรียนการสอนในห้องเรียน แต่การดำเนินการในเรื่องนี้จะส่งผลให้เกิดช่องว่างของการเรียนรู้ของเด็กหรือไม่ดังนั้น การปลอดการบ้านถือว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต สพฐ.จะปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะดังนั้นการเรียนการสอนในห้องเรียนก็จะต้องปรับ และการให้การบ้านนักเรียนก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เช่นกันโดยที่ไม่ใช่เป็นการให้บ้านแบบจำนวนมากๆ อีกต่อไป ดังนั้นจากนี้ไปโรงเรียนก็ต้องหาแนวทางที่จะลดการบ้านเด็กอย่างไร แต่อาจจะให้เด็กไปค้นคว้า หรือหาความรู้เพิ่มเติมในช่วงเวลาที่ไม่ได้ทำการบ้าน
“ขอดูโรงเรียนขับเคลื่อนในเรื่องนี้ว่าทำได้ดีหรือไม่ มีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างไรบ้างในการให้มีการบ้านหรือไม่มีการบ้านของนักเรียน เพราะต้องวิเคราะห์กันอย่างรอบด้านด้วย โดยการไม่สั่งการบ้านเลยเด็กจะมีสิ่งเรียนรู้อะไรนอกเหนือจากบทเรียนในห้องเรียนที่ครูสอนบ้าง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องสั่งการบ้านแต่ควรมอบหมายให้เป็นโครงงานคิดวิเคราะห์ให้เด็กรับผิดชอบแล้วกลับมานำเสนอรายงานหน้าชั้นเรียนดีกว่า”เลขาฯ กพฐ.กล่าว
- BCC Next รู้ทฤษฎีก่อนเรียนจริง
อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนการสอนแบบเดิมๆมาถึงยุคนี้ยังมีคำถามว่าใช่แนวทางที่ถูกต้องต้องหรือไม่ หรือถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยหรือไม่อย่างไร ล่าสุดโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน (กท.)ได้ปรับระบบจัดการเรียนการสอนนักเรียนม.ปลายใหม่ใช้ระบบ “BCC Next” นำสา่ยวิทย์-ศิลป์ มาจัดเป็นแขนงการเรียนใหม่เป็นแผนการเรียน (Tracks) เรียนวิชาพื้นฐานครบหน่วยกิตตามที่กระทรวงศึกษาธิิการกำหนด แต่ใส่วิชาเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแทรคนั้น เพื่อเป็นการเตรียมองค์ความรู้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และลดทอนวิชาที่ไม่จำเป็นลงจากเดิมที่จัดการเรียนการสอนโดยแบ่งเป็นสายวิทย์-คณิต, ศิลป์-คำนวณ และศิลป์-ภาษา และศิลป์ทั่วไป
ซึ่งโรงเรียนจะมีแบบฟอร์มมาให้เด็กเลือกตามความถนัดและความสนใจยกเว้นแทรคแนวสายวิทย์ ต้องมีเกรดเฉลี่ยวิชาวิทย์กับคณิตช่วง ม.ต้น 6 เทอม ต้องได้ 3.00 ขึ้นไป และสามารถย้ายแทรคได้ภายใน 2 เทอมแรก โดยพิจารณาควบคู่ไปกับรายงานวิเคราะห์ผลการเรียนของเด็กและการประเมินทางวิชาชีพจากทางแนะแนว ประกอบการตัดสินใจได้อย่างเป็นระบบ
อาทิ 1.นิเทศศาสตร์และสื่อดิจิทัล 2. แทรควิศวกรรมการบินและอวกาศ 3. แทรคศิลปะการประกอบอาหาร 4. แพทย์ศาสตร์ และกลุ่มสาขาสาธารณสุขศาสตร์ 5.วิศวกรรมศาสตร์ชีวภาพ 6.วิศวกรรมหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ 7.วิศวกรรมการบินและอวกาศ 8. วิทยาศาสตร์ทั่วไป 9.สถาปัตยกรรมศาสตร์ 10 อักษรศาสตร์ 11.นิเทศศาสตร์และสื่อดิจิทัล 12. ศิลปะการทำอาหาร
- มธ.เรียนก่อนเลือก(คณะ)ทีหลัง
“รศ. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่าจากการสำรวจเด็กที่สอบเข้าทีแคสในแต่ละปี พบว่า มีเด็กร้อยละ 12 เป็นเด็กซิ่ว และด้วยพ่อแม่ในยุคปัจจุบัน มีอิทธิพลในการเลือกเรียนลูก ขณะเดียวกันเด็กหลายคนก็ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ทำให้เมื่อเลือกเรียน หลายคนเลือกตามเพื่อน ตามพ่อแม่ เลือกเพราะสอบติด แต่ไม่ได้เลือกในสิ่งที่ตนเองอยากเรียน หรือถนัด
จึงได้เปิดหลักสูตร Thammasat Frontier School หรือเป็นหลักสูตรที่เปิดรับนักศึกษาที่จบจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ที่มีเกรดเฉลี่ยตลอดหลักสูตรม.ปลาย 2.75 มาเข้าเรียนปริญญาตรีแบบไม่สังกัดหลักสูตร ให้นักศึกษาเลือกเรียน และออกแบบหลักสูตรตามเป้าหมายของตนเองก่อน ค้นหาวิชา คณะที่ตนเองสนใจ และถนัด
โดยในช่วง 3 ภาคเรียนแรกของการเข้าเรียน นักศึกษาที่จะสมัครโครงการนี้จะเรียนชุดรายวิชาที่ตนเองสนใจ และเมื่อเข้าสู่ภาคเรียนที่ 4 ถึงจะเลือกเรียนใน 9 คณะ ได้แก่ นิติศาสตร์, พาณิชยศาสตร์การบัญชี, รัฐศาสตร์, สังคมสงเคราะห์, ศิลปศาสตร์, วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน, วิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์, วิทยาลัยสหวิทยาการ และสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะเปิดรับนักศึกษาในระบบ TCAS รอบ 3 และ 4 ในปีการศึกษา 2563 นี้
“เราอยากจะให้น้องๆ ที่เป็นนักเรียน ได้เรียนในสิ่งที่ตนเองต้องการ และเรียนรู้ในคณะที่ตนเองได้ค้นหาตัวเองให้เจอ ซึ่งการค้นตัวเองนั้นไม่อยาก โดยทุกคนควรเปิดโอกาสให้แก่ตัวเอง ออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง และรับประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เวลาตัวเองในการสร้างตัวตน ไปสู่จุดหมาย การศึกษาในมหาวิทยาลัยรรมศาสตร์ เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนไปสู่เป้าหมายชีวิตของตนเองได้ แต่ทั้งนี้การศึกษาที่ดีที่สุด ต้องเริ่มจากความอยากรู้ อยากศึกษาตลอดชีวิตของแต่ละคน” รศ.ชาลี กล่าว
อย่างไรก็ตาม มธ.มีแนวทางในการเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของเทรนด์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ อาทิ Gen Next Academy หรือธรรมศาสตร์ตลาดวิชา เปิดให้ทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าใด หรือมีวุฒิการศึกษาอะไร ก็สามารถเข้าเรียนได้และในปีการศึกษา 2564 มหาวิทยาลัยมีแนวคิดว่าการศึกษาในยุคหน้าอาจจะไม่ใช่เรียนอยู่ในหลักสูตรเดียว
แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่แตกต่าง การเรียนรู้ต้องตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละบุคคล เพราะแต่ละคนมีพื้นฐาาน มีเป้าหมาย มีศักยภาพแตกต่างกัน การศึกษาต้องต่างด้วย หลักสูตรใหม่ที่ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะเน้นการเรียนรู้หลากหลายศาสตร์ เน้นการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆของโลกอนาคต การเรียนรู้เน้นการสร้างสมรรถนะของผู้เรียนมากกว่าทักษะ เพราะสมรรถนะและทักษะมีความแตกต่างกัน และบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำหลักสูตร เพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัย
- แพทย์จุฬาฯ 6 ปี ตรีควบโท
ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ปรับหลักสูตรเพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ยุคดิสรัปชั่น โดยปีการศึกษา 2563 นี้ จะเปิดการเรียนการสอน 2 ปริญญา เรียนภายใน 6 ปี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าด้วยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คน และเด็กรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รวมถึงองค์ความรู้ในบางเรื่องของคณะแพทยศาสตร์ที่เด็กศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลได้
เมื่อจบการศึกษาพวกเขาจะได้ 2 ปริญญา เป็นหลักสูตรข้ามศาสตร์ข้ามระดับ และ 2 ระดับที่จะได้รับคือปริญญาตรีควบปริญญาโท ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต วิศวกรรมชีวเวช โดยนิสิตแพทย์ยังคงเรียนรู้เฉพาะทางด้านการแพทย์ เมื่อจบการศึกษาสามารถเป็นแพทย์ได้เหมือนหลักสูตรอื่นๆ แต่ระหว่างเรียนนิสิตจะมีความถนัดในเชิงวิศวกรรม เรียนแบบบูรณาการร่วมกัน
เมื่อจบการศึกษาบัณฑิตแพทย์กลุ่มนี้จะทำงานด้านแพทย์โดยตรง หรือศึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือศึกษาต่อด้านวิศวกรรมชีวเวช เป็นแพทย์ที่มีศาสตร์วิศวกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง แพทย์ที่มีความรู้ ใช้ AI เข้ามาช่วยในการรักษา รวมถึงคิดประดิษฐ์เครื่องมือการรักษา แพทย์ที่ทั้งรักษาคนได้และสร้างนวัตกรรม หรืองานวิจัยด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เปิดกว้างการทำงาน ศึกษาวิจัย และวงการแพทย์ร่วมพัฒนาประเทศต่อไป
โดยปีแรกของการเปิดรับจะคัดเลือกนิสิตแพทย์ที่สมัครเข้ามาเรียนโดยผ่านระบบการรับคัดเลือกและได้มาเรียนแพทย์ในปีการศึกษา 2563 ก็จะคัดเลือกนิสิตที่มีความพร้อม ความถนัด ความสนใจด้านวิศวกรรม ประมาณ 10 คน มาเรียนในหลักสูตรดังกล่าว นิสิตที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าวคณะคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯมีทุนการศึกษายกเว้นค่าเล่าเรียนให้